Abstract:
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 ได้ทำการสำรวจเมตาเซอร์คาเรียของพยาธิใบไม้ในปลาที่รับประทานเป็นอาหาร โดยปลาที่ศึกษาได้จับมาจากพื้นที่ 3 แห่งในจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ ในแม่น้ำที่อำเภอสังขละบุรี และในแม่น้ำที่อำเภอไทรโยค ตัวอย่างที่ตรวจประกอบด้วยปลา 12 ชนิด จำนวนทั้งสิ้น 82 ตัวได้แก่ กระสูบขีด (Hampala macrolepidota) จำนวน 5 ตัว, กระแห (Barbonymus schwanfeldii) จำนวน 3 ตัว, กะมัง (Puntioplites proctozysron) จำนวน 27 ตัว, กา (Morulius chrysophykadian) จำนวน 1 ตัว, แกง (Cirrhinus chinensis) จำนวน 2 ตัว, ขี้ยอก (Mystacoleucus marginatus) จำนวน 2 ตัว, ตะโกก (Cyclocheilichthys enoplos) จำนวน 3 ตัว, ตะเพียนขาว (Barbonymus gonionotus) จำนวน 4 ตัว, เวียน (Tor sp.) จำนวน 1 ตัว, สร้อยขาว (Henicorhynchus siamensis) จำนวน 13 ตัว, สร้อยนกเขา (Osteochilus hasselti) จำนวน 20 ตัว และ สร้อยหางแดง (Cirrhinus jullieni) จำนวน 1 ตัว ตรวจหาการติดพยาธิใบไม้ระยะเมตาเซอร์คาเรียด้วยวิธีกดทับตัวอย่างด้วยกระจกสไลด์พบว่า ความชุกการติดเมตาเซอร์คาเรียในปลาเท่ากับ 54.9% (45 ตัวจาก 82 ตัว) โดยปลาบริเวณอ่างเก็บน้ำมีการติดปรสิตน้อยที่สุด ความชุกเท่ากับ 19.6% เมื่อเปรียบเทียบกับปลาจากแม่น้ำที่อำเภอสังขละบุรีและอำเภอไทรโยคซึ่งมีการติดปรสิตสูงถึง 100%