Abstract:
การศึกษาแนวทางการจัดการพื้นที่โดยใช้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) เพื่อเศรษฐกิจการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในบริเวณฟื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นการศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ศึกษา รวมถึงศึกษาแนวทางการจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินโครงการ CDM ภาคป่าไม้ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของพื้นที่ศึกษาต่อไป การศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ศึกษา พบว่า พื้นที่ป่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จากการดำเนินโครงการ CDM ภาคป่าไม้ในพื้นที่ศึกษา พบว่าพื้นที่ศึกษามีสภาพเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ก่อนปี พ.ศ. 2532 จึงมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินโครงการ CDM ภาคป่าไม้ ด้วยกิจกรรมการฟื้นฟูป่า (Reforestation) และในปัจจุบันมีพื้นที่เสื่อมโทรมเท่ากับ 2,020.21 ไร่ (พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและพื้นที่โล่ง) และจากการศึกษาความสอดคล้องของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ CDM ภาคป่าไม้ พบว่า เมื่อพิจารณากรณีฐานกับทั้งกรณีดำเนินและไม่ดำเนินโครงการ CDM ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการเก็บกักคาร์บอน ดังนั้น การดำเนินโครงการ CDM ในพื้นที่ศึกษาจึงไม่มีประโยชน์ส่วนเพิ่ม (Additionality) และเมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุน พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเริ่มโครงการขั้นต่ำเท่ากับ 130,000 US$ (4,300,000 บาท) และพื้นที่ศึกษาสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ 29,495 US$(973,000 บาท) ต่อปี ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า โครงการ CDM ภาคป่าไม้ ในพื้นที่ศึกษา ไม่สอดคล้องกับหลักการและเงื่อนไขของโครงการ CDM ภาคป่าไม้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในการลงทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นโครงการค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายรับจากการขายคาร์บอนเครดิต ดังนั้นความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด ภาคป่าไม้ในพื้นที่ศึกษา จึงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ