Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมตัวดูดซับไฮโดรทาลไซต์ที่ผ่านการกระตุ้นด้วยความร้อนและด่าง และฟังก์ชันด้วยเตตระเอทิลีนเพนตะมีนที่ปริมาณความเข้มข้นต่างๆ และเพื่อหาสภาวะที่ดีที่สุดที่ทำให้ได้ค่าความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดด้วยการออกแบบและการวิเคราะห์ทางสถิติ โดยศึกษาลักษณะเฉพาะของตัวดูดซับด้วยเทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอ็กซ์ ฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี การวิเคราะห์ธาตุธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และไนโตรเจน การหาพื้นที่ผิวจำเพาะหรือบีอีที และการวิเคราะห์การสลายตัวทางความร้อนหรือทีจีเอ การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ดำเนินการภายใต้ความดันบรรยากาศและสภาวะที่แห้ง เพื่อประเมินระดับความสำคัญอย่างมีนัยสำคัญที่มีต่อค่าความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลตอบสนอง ผลกระทบหลักทั้งสี่ คือ ปริมาณเตตระเอทิลีนเพนตะมีนในตัวดูดซับ (ร้อยละ 30-40 โดยมวล) อุณหภูมิการดูดซับ (40-80 องศาเซลเซียส) อัตราส่วน W/F ratio (0.9-1.8 กรัม วินาทีต่อลูกบาศก์เซนติเมตร) และความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ (ร้อยละ 10-30 โดยปริมาตร) และอันตรกิริยาของผลกระทบหลัก ได้ถูกวิเคราะห์ด้วยการออกแบบ 24 แฟคทอเรียลเต็มรูปแบบ ซึ่งพบว่า ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มค่าในแต่ละผลกระทบหลักทั้งสี่ นั่นคือ ผลกระทบหลักทั้งสี่มีอิทธิพลในเชิงบวกต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ สภาวะที่ดีที่สุดที่ทำให้ได้ค่าความสามารถในการดูดซับที่สูงที่สุดโดยใช้การวิเคราะห์พื้นผิวตอบสนอง อยู่ในช่วงของปริมาณ TEPA ในตัวดูดซับ ร้อยละ 35-36 โดยมวล อุณหภูมิ 74-80 องศาเซลเซียส อัตราส่วน W/F 1.72-1.80 กรัม วินาทีต่อลูกบาศก์เซนติเมตร และ ความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 27-30 โดยปริมาตร ซึ่งค่าความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้อยู่ในช่วง 6.1-6.2 มิลลิโมลต่อกรัม จากการทดสอบความคงทนของตัวดูดซับ พบว่า ตัวดูดซับมีความคงทนภายใต้สภาวะที่ศึกษา