Abstract:
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังสัมพันธ์กับการเกิดโรคตับที่รุนแรง เช่นตับแข็ง และมะเร็งตับ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 600,000 คนในแต่ละปี ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังยังคงมีข้อจำกัดในการใช้ อินเตอร์เฟียรอนแลมป์ดาเป็นไซโตไคน์ที่มีคุณสมบัติในการต้านไวรัสและคุณสมบัติในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันคล้ายกับอินเตอร์เฟียรอนแอลฟา อย่างไรก็ตามการแสดงออกของตัวรับสัญญาณที่จำเพาะกับไซโตไคน์ชนิดนี้มีการแสดงออกที่จำกัด ดังนั้นอาการข้างเคียงจากการใช้ไซโตไคน์ชนิดนี้ จึงน้อยกว่าอินเตอร์เฟียรอนแอลฟา ด้วยเหตุนี้อินเตอร์เฟียรอนแลมป์ดาอาจจะเป็นยาใหม่ที่จะใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ในการศึกษานี้ ผู้วิจัยแสดงให้เห็นว่าอินเตอร์เฟียรอนแลมป์ดาสามซึ่งเป็นซับไทป์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด สามารถกระตุ้นการแสดงออกของยีนต่างๆ ในกลุ่มของไอเอสจียีน และสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนและการแสดงออกของยีนไวรัสตับอักเสบบีในเซลล์ที่ถูกทรานสเฟคด้วยไวรัสตับอักเสบบีที่มีชื่อว่าเฮปจีสองจุดสองจุดหนึ่งห้า โดยความสามารถดังกล่าวนี้จะแปรผันตามความเข้มข้นของยา ยิ่งไปกว่านั้นในการศึกษานี้ได้ศึกษากลไกในระดับโมเลกุลเพื่อดูการตอบสนองของโปรติโอมที่ถูกกระตุ้นด้วยอินเตอร์เฟียรอนแลมป์ดาสามในเซลล์เฮปจีสองจุดสองจุดหนึ่งห้าโดยใช้วิธีโปรติโอมิกส์ โดยพบว่าโปรตีนส่วนใหญ่ที่ตอบสนองต่ออินเตอร์เฟียรอนแลมป์ดาสามเกี่ยวข้องกับการกำจัดโปรตีน, การเพิ่มจำนวนของเซลล์, ฮีทช๊อคโปรตีน เป็นต้น และผู้วิจัยเลือกโปรตีนบางตัวมาทำการยืนยันด้วยวิธีเวสเทิร์นบลอท จากผลการทดลองทั้งหมดในการศึกษานี้ ผู้วิจัยได้เสนอว่าอินเตอร์เฟียรอนแลมป์ดาสามแสดงคุณสมบัติในการต้านไวรัสและคุณสมบัติในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อควบคุมการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ดังนั้นอินเตอร์เฟียรอนแลมป์ดาสาม จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกใหม่ที่น่าสนใจที่จะนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง และโปรตีนที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังได้รับยา อาจจะเป็นเป้าหมายใหม่ในการรักษา อย่างไรก็ตาม การศึกษาประสิทธิภาพของอินเตอร์เฟียรอนแลมป์ดาสามในร่างกายของสิ่งมีชีวิต และการศึกษาหน้าที่ของโปรตีนนั้นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงยังคงจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป