Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้เป็นการศึกษาเพื่อทดสอบความไม่มีประสิทธิภาพของตลาด (Market Inefficiency) ด้วยเครื่องมือทางเศรษฐมิติ (Econometric) และการสร้างกฎการซื้อขาย (Trading rule) การทดสอบความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดด้วยเครื่องมือทางเศรษฐมิติ นำวิธีการศึกษาแบบ Multivariate Cointegration มาทดสอบหาความสัมพันธ์ร่วมระยะยาว (Cointgration) ระหว่าง จุดสูงสุด จุดต่ำสุด และจุดปิดในอดีตและอนาคต ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ดัชนีตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand Index หรือ SET Index) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur Stock Exchange หรือ KLSE Composite) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ (Philippines Stock Exchange Composite หรือ PSE Composite) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จาการ์ตา (Jakarta Stock Exchange Composite หรือ JKSE Composite) และดัชนีสเตรทส์ไทมส์สิงคโปร์ (Singapore Straits Times Composite หรือ ST Composite) โดยทำการศึกษาแยกตามแต่ละตลาด และการทดสอบความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดด้วยการสร้างกฎการซื้อขาย (Trading rule) ได้ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) อาทิเช่น Slow Stochastic indicators (SSTO), Relative Strength Index (RSI), Moving Average Convergence Divergence (MACD), Exponential Moving Average (EMA) และ The Three Line of Exponential Moving Averages (T-EMA) เพื่อทดสอบหาผลตอบแทนส่วนเกิน (Excess return) เปรียบเทียบกับการลงทุนแบบซื้อแล้วถือไว้ (Buy-and-hold) โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิแบบรายวัน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922 ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2004 ผลการทดสอบความสัมพันธ์ร่วมระยะยาวแยกตามแต่ละตลาดพบว่า จุดสูงสุด จุดต่ำสุด และจุดปิดในอดีตกับอนาคตของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนทุกตลาด มีความสัมพันธ์ร่วมระยะยาวกัน 2 Cointegrate ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% อย่างมีนัยสำคัญซึ่งแสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดดังกล่าว ผลการทดสอบหาผลตอบแทนส่วนเกินของเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคซึ่งใช้เป็นกฎการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มประเทศอาเซียนแยกตามแต่ละตลาด พบว่าเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิค T-EMA 1,5,10 สามารถเกิดผลตอบแทนส่วนเกินได้ทุกตลาด โดยพบว่าสัญญาณการซื้อขายของ T-EMA 1,5,10 แบบ T-EMA One Way Back สามารถเกิดผลตอบแทนส่วนเกินได้ทุกตลาด แต่สัญญาณการซื้อขายของ SSTO 5,3,3 แบบ SSTO Crossover และ SSTO Cross 80/20 ไม่สามารถเกิดผลตอบแทนส่วนเกินได้ทุกตลาด สรุปว่าการใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นกฎการซื้อขายสามารถเกิดผลตอบแทนส่วนเกินได้ทุกตลาด ซึ่งแสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน สอดคล้องกับผลการทดสอบความสัมพันธ์ร่วมระยะยาวระหว่างจุดสูงสุด จุดต่ำสุด และจุดปิด ในอดีตกับอนาคตของตลาดดังกล่าว