Abstract:
ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร จำนวนลูกสุกรแรกคลอดมีชีวิตต่อครอกเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากการปรับปรุงพันธุกรรมของสุกรมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามความรู้ความเข้าใจทางด้านการจัดการหลังคลอดเพื่อลดการตายของลูกสุกรก่อนหย่านมยังไม่เพียงพอ การวิจัยครั้งนี้ทำขึ้นเพื่อศึกษาการตายของลูกสุกรก่อนหย่านมของฟาร์มสุกรในประเทศไทยสัมพันธ์กับจำนวนลูกสุกรที่เลี้ยงต่อครอกและน้ำหนักแรกคลอดของลูกสุกร ข้อมูลที่ศึกษามาจาก 11,154 ครอกจากแม่สุกร 3,574 แม่ที่คลอด ระหว่างเดือน มกราคม ค.ศ. 2009 ถึง เดือนธันวาคม ค.ศ. 2012 จำนวนลูกแรกคลอดมีชีวิตต่อครอก (หลังการย้ายฝาก) แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1 – 7 ตัว 8 – 10 ตัว 11 – 12 ตัว และ 13 – 15 ตัว/ครอก น้ำหนักแรกคลอดเฉลี่ยแบ่งเป็น ต่ำ (< 1.30 กิโลกรัม/ตัว) ปานกลาง (1.30 – 1.79 กิโลกรัม/ตัว) และสูง (≥ 1.80 กิโลกรัม/ตัว) เปอร์เซ็นต์การตายก่อนหย่านมของลูกสุกรถูกคำนวณและแปลงเป็นค่า log แล้วทำการวิเคราะห์ทางสถิติด้วยวิธี General Linear Mixed Models ผลการศึกษาพบว่าอัตราการตายก่อนหย่านมเฉลี่ยเท่ากับ 14.5% (median = 10.0%) การตายของลูกสุกรก่อนหย่านมในครอกที่มีลูกสุกร 13 – 15 ตัวต่อครอก (24.1%) สูงกว่ากับครอกที่มีลูกสุกร 1 – 7 ตัว (11.9% P < 0.001) 8 – 10 ตัว (11.8% P < 0.001) และ 11 – 12 ตัว (14.6% P < 0.001) ตัวต่อครอก อย่างมีนัยสำคัญ ครอกที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ (18.8%) มีอัตราการตายก่อนหย่านมสูงกว่าครอกที่มีน้ำหนักแรกคลอดปานกลาง (15.7% P < 0.001) และสูง (12.1% P < 0.001) อย่างมีนัยสำคัญ โดยสรุปการลดอัตราการตายก่อนหย่านมของลูกสุกรในฟาร์มสุกรควรเน้นการจัดการดูแลลูกสุกรในครอกที่มีจำนวนลูกสุกรมากกว่า 13 ตัวต่อครอก และลูกสุกรที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่า 1.30 กิโลกรัม มากเป็นพิเศษ