Abstract:
การบาดเจ็บจากแรงเชิงกลส่งผลให้เกิดการละลายภายในคลองรากฟัน ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งของการสูญเสียฟัน ดังนั้นการศึกษากลไกการเกิดการละลายภายในคลองรากฟันจึงมีผลต่อการพัฒนาแนวทางในการรักษาผู้ป่วยทางคลินิก ในงานวิจัยนี้คณะผู้วิจัยจึงมีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษากลไกการเกิดการละลายภายในคลองรากฟัน โดยคณะผู้วิจัยมีสมมุติฐานเบื้องต้นว่าความเครียดจากแรงเชิงกล ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเซลล์โพรงฟัน ทำให้เซลล์โพรงฟันหลั่งสารที่มีผลต่อการแปรสภาพและการทำงานของเซลล์สลายกระดูก/สลายฟัน ซึ่งเซลล์ดังกล่าวนี้จะไปทำลายเนื้อฟันและทำให้เกิดลักษณะทางคลินิกของการละลายภายในคลองรากฟัน จากผลการทดลองพบว่าเมื่อเซลล์โพรงฟันได้รับความเครียดจากแรงกด นอกจากเซลล์โพรงฟันจะมีการหลั่งไซโตไคน์ IL-1 และ IL-6 ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบแล้ว ยังมีการหลั่งสารกลุ่ม Danger Associated Molecular Pattern (DAMPs) อันได้แก่ S100A7, S100A8 และ S100A9 อีกด้วย โดยมีรายงานว่าสาร S100 ดังกล่าวมีผลต่อการเพิ่มการแปรสภาพและการทำงานของเซลล์สลายกระดูก นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบว่าความเครียดจากแรงกดยังมีผลต่อการแสดงออกของตัวรับสัญญาณ GPCR และ P2Y6R ซึ่งผู้วิจัยมีสมมุติฐานว่าวิถีสัญญาณที่ผ่านตัวรับสัญญานดังกล่าวน่าจะเกี่ยวข้องกับการหลั่งสาร S100A7, S100A8 และ S100A9 อย่างไรก็ตามคณะผู้วิจัยยังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้กลไกการเกิดการละลายคลองรากฟันที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยคณะผู้วิจัยคาดหวังว่าองค์ความรู้ทั้งหมดนี้จะมีประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยทางคลินิกในอนาคต