Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) นำเสนอสถานการณ์และแนวโน้มของอายุเมื่อมีบุตรคนแรก และ 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านประชากร เศรษฐกิจสังคม และอนามัยเจริญพันธุ์กับการมีบุตรคนแรกช้า ของสตรีสมรสในประเทศไทย การศึกษาประยุกต์ใช้แนวคิดตัวแบบเหตุและผลของอายุเมื่อมีบุตรคนแรก (Causal Model of Age at First Birth) ของ Rindfuss & St.John (1983) และใช้ข้อมูลเชิงปริมาณจากการสำรวจของโครงการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและความอยู่ดีมีสุขในบริบทสังคมสูงวัย (Survey of Population Change and Well-being in the Context of Aging Society : PCWAS) ของวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินการจัดเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน พ.ศ. 2559 มีประชากรตัวอย่าง คือสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุระหว่าง 15-49 ปี ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่ตกเป็นตัวอย่าง โดยการศึกษาครั้งนี้เลือกเฉพาะสตรีเคยสมรสอายุระหว่าง 30-49 ปี ที่มีบุตรเกิดมีชีพอย่าง 1 คน และมีข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ครบถ้วน (N=4,324) การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สมการถดถอยแบบโลจิสติกทวิภาค (Binary Logistic Regression Analysis) โดยตัวแปรตามคืออายุเมื่อมีบุตรคนแรกช้าของสตรี แปลงค่าให้เป็นตัวแปรหุ่น โดย 0 แสดงอายุสตรีที่มีบุตรคนแรกก่อนอายุ 29 ปี และ 1 แสดงตรงกันข้าม
ผลการศึกษาสถานการณ์และแนวโน้มของอายุเมื่อมีบุตรคนแรกของสตรีสมรสในประเทศไทย พบว่าสตรีมีอายุเฉลี่ยเมื่อมีบุตรคนแรกอยู่ที่ 23.5 ปี โดยมีสัดส่วนของสตรีที่มีบุตรคนแรกก่อนอายุ 29 ปี และตั้งแต่ 29 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 82.6 และ 17.4 ตามลำดับ และอายุเมื่อมีบุตรคนแรกของสตรีมีแนวโน้มเป็นลักษณะคงที่ในช่วง ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้พบว่า อายุแรกสมรส จำนวนบุตรที่ต้องการ ระดับการศึกษา เขตที่อาศัย การมุ่งเน้นการทำงาน สถานที่ทำงาน รายได้ปัจจุบัน ความสามารถในการมีบุตร ภาวะมีบุตรยาก และการปรึกษาเรื่องการวางแผนครอบครัวก่อนการสมรส มีอิทธิพลต่อการมีบุตรคนแรกช้าของสตรี นอกจากนี้ภายหลังการควบคุมอิทธิพลจากปัจจัยอื่นแล้วนั้น พบว่า ปัจจัยด้านประชากร ได้แก่ อายุปัจจุบัน อายุแรกสมรส และจำนวนบุตรที่ต้องการ สามารถอธิบายการมีบุตรคนแรกช้าได้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจสังคม ในตัวแปรระดับการศึกษา ยังมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการมีบุตรคนแรกช้า และสามารถอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ดีเช่นกัน รวมไปถึงปัจจัยด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ได้แก่ ความสามารถในการมีบุตร และภาวะมีบุตรยาก ที่มีอิทธิพลต่อการมีบุตรแรกช้า ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของกระบวนการทางชีววิทยาที่ส่งผลต่ออายุเมื่อมีบุตรคนแรก ในขณะที่ตัวแปรด้านการทำงานของสตรีสามารถอธิบายการมีบุตรคนแรกช้าได้น้อยที่สุด