Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินศักยภาพการสะสมธาตุคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของพื้นที่ป่าผลัดใบในพื้นที่ อพ. สธ. จังหวัดสระบุรี การศึกษาทำโดยวางแปลงสำรวจทั้งสิ้น 5 แปลง แบ่งเป็นแปลงในสังคมป่าเบญจพรรณ ขนาด 30 x 50 ตร.ม. จำนวน 2 แปลง และขนาด 40 x 40 ตร.ม. จำนวน 1 แปลง รวม 3 แปลง และเป็นแปลงในสังคมป่าเต็งรัง ขนาด 40 x 40 ตร.ม. รวม 2 แปลง ทำการจำแนกชนิดต้นไม้ และวัดขนาดเส้นรอบวงของไม้ยืนต้นซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 14.1 ซม. ที่ระดับ 1.30 ม. จากพื้นดิน จากนั้นคำนวณมวลชีวภาพเหนือพื้นดินโดยใช้สมการอัลโลเมทริก (allometric equation) ของป่าผลัดใบและคำนวณปริมาณคาร์บอนสะสม ซึ่งมีค่าประมาณร้อยละ 50 ของมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่แห่งนี้มีลักษณะเป็นป่าทุติยภูมิ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 10 ซม. มีปริมาณคาร์บอนสะสมในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินอยู่ในช่วง 4.62 - 34.21 ตันคาร์บอน/เฮกแตร์ และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 22.17±13.05 ตันคาร์บอน/เฮกแตร์ โดยจำแนกเป็นป่าเบญจพรรณ 32.71±2.08 ตันคาร์บอน/เฮกแตร์ และป่าเต็งรัง 6.36+1.74 ตันคาร์บอน/เฮกแตร์ จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ป่าแห่งนี้ยังมีศักยภาพในการสะสมธาตุคาร์บอนได้อีกในปริมาณมาก จึงควรมีมาตรการในการดูแลรักษาพื้นที่ป่าแห่งนี้ นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่า ประดู่ป่า ปอฝ้าย และเสี้ยวป่า เป็นพันธุ์ไม้ที่มีความหนาแน่นมากและสามารถสะสมธาตุคาร์บอนได้ดี ดังนั้น หากต้องการฟื้นฟูป่าเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการสะสมธาตุคาร์บอน ควรเลือกพันธุ์ไม้ดังกล่าวมาปลูกเสริม เนื่องจากเติบโตได้ดีในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงแทนที่ อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาการเพิ่มพูนมวลชีวภาพรายปีเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบถึงชนิดพันธุ์ไม้ที่สามารถสะสมคาร์บอนได้ดีและนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการฟื้นฟูป่าต่อไป