Abstract:
เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่ยังคงสภาพอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของสัตว์สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเต่ากระ Eretmochelys imbricate ซึ่งปัจจุบันหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือและภาคเอกชนที่ดูแลเกาะทะลุ (มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม และ เกาะทะลุไอส์แลนด์รีสอร์ท) ได้ร่วมมือกันบริหารจัดการพื้นที่หาดทรายของเกาะทะลุให้เหมาะสมกับการขึ้นทำรังวางไข่ของเต่ากระ จนประสบผลสำเร็จในการเพาะฟักไข่และอนุบาลลูกเต่าได้เป็นจำนวนมาก โดยในปี พ.ศ. 2557 พบการขึ้นวางไข่ของเต่ากระ 7 รัง ในระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกันยายน พ.ศ. 2557 และได้ทำการย้ายไข่มาเพาะฟักยังหาดทรายกึ่งธรรมชาติจนฟักออกเป็นตัวและได้ลูกเต่ามาเลี้ยงยังบ่อในโรงเรือนอนุบาลทั้งสิ้น 706 ตัว การตรวจสอบสุขภาวะของเต่ากระในบ่อเลี้ยงอาศัยการตรวจสอบค่าทางโลหิตวิทยาในภาคสนามของเต่ากระกลุ่มอายุ 1-2 ปี ที่ได้จากการเพาะฟักไข่จากฤดูการวางไข่ ปี พ.ศ. 2556 แล้วนำมาเลี้ยงในโรงเรือนอนุบาลจำนวน 68 ตัว พบว่าเต่ากระมีค่าฮีมาโตคริตอยู่ในช่วงร้อยละ 5 ถึง ร้อยละ 25.5 โดยมีเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 13.29 ± 4.39 ซึ่งจัดอยู่ในช่วงอ้างอิงของเต่ากระก่อนวัยเจริญพันธุ์ (ร้อยละ 12.1-41.0) ขนาดประชากรของเต่ากระอาจประมาณได้จากข้อมูลการทำรังวางไข่ของเต่ากระที่เกาะทะลุในปี พ.ศ. 2555 และ 2557 ซึ่งพบว่ามีเต่ากระเพศเมียอย่างน้อย 4 ตัว ที่ใช้เกาะทะลุเป็นพื้นที่ทำรังวางไข่ แต่ไม่สามารถระบุถึงจำนวนเต่ากระเพศผู้ได้ การศึกษานี้จึงได้พัฒนาเทคนิคทางชีววิทยาโมเลกุล (mitochondrial DNA) เพื่อตรวจสอบจำนวนเต่ากระเพศเมียที่ขึ้นวางไข่ ควบคู่ไปกับการศึกษาภาวะ multiple paternity ด้วยเทคนิคทางชีววิทยาโมเลกุล (microsatellite DNA) เพื่อตรวจสอบว่ามีเต่าเพศผู้อย่างน้อยกี่ตัวที่ผสมพันธุ์กับเต่าเพศเมียที่วางไข่รังนี้ โดยใช้เลือดจากตัวอย่างเต่ากระอายุ 1-2 ปี ที่ใช้ศึกษาสุขภาวะและการเจริญเติบโต ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ในการตรวจสอบจำนวนเต่ากระเพศเมีย ยังไม่สามารถใช้บริเวณ control region ของ mitochondrial DNA เพื่อระบุอัตลักษณ์ของแม่เต่าได้ ส่วนการตรวจสอบจำนวนเต่ากระเพศผู้ พบว่า microsatellite primer อย่างน้อย 3 คู่ ที่มีศักยภาพในการใช้ตรวจสอบอัตลักษณ์ของพ่อเต่าได้