Abstract:
เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูงและมีสัตว์เลื้อยคลานชนิดสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเต่ากระ Eretmochelys imbricate และยังมีสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ จากการสำรวจเบื้องต้นด้านความหลากหลายของสัตว์เลื้อยคลานบนพื้นที่เกาะทะลุ พบสัตว์เลื้อยคลาน 8 ชนิด โดยส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลื้อยคลานในอันดับ Squamata อันดับย่อย Lacertilia ซึ่งมีชนิดเด่นที่พบมาก คือ กิ้งก่าคอแดง Calotes versicolor จึงเลือกใช้เป็นตัวอย่างสัตว์เลื้อยคลานในการศึกษาครั้งนี้ เมื่อนำมาศึกษาด้านสัณฐานวิทยาและประชากร พบว่ากิ้งก่าคอแดงที่พบในการศึกษาครั้งนี้มีความยาวลำตัว (ปลายจมูกถึงรูก้น-SVL) อยู่ในช่วงเดียวกับกิ้งก่าตัวเต็มวัยที่พบได้ในพื้นที่อื่นของประเทศไทย โดยข้อมูลภาวะขนาดรูปร่างสองแบบตามเพศแสดงให้เห็นว่าประชากรที่พบในการศึกษาครั้งนี้มีกิ้งก่าเพศผู้เป็นส่วนใหญ่ และช่วงเวลาที่สำรวจน่าจะเป็นช่วงฤดูการสืบพันธุ์ของกิ้งก่า เมื่อนำข้อมูลด้านสัณฐานวิทยามาประเมินสุขภาวะโดยรวมจากค่า Condition factor พบว่าประชากรกิ้งก่าคอแดงที่เกาะทะลุมีค่าอ้างอิงปกติเท่ากับ 88.58-112.04 ซึ่งเมื่อใช้ประเมินสุขภาวะของกิ้งก่า พบว่ามีกิ้งก่าร้อยละ 8 ที่มีค่าสูงเกินค่าอ้างอิงปกติ และร้อยละ 8 มีค่าต่ำกว่าอ้างอิงปกติ ซึ่งค่าที่ได้นี้อาจนำไปใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการประเมินสุขภาวะของกิ้งก่าชนิดนี้ในฤดูกาลอื่น หรือ ในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันได้