Abstract:
โครงการการใช้แบบจำลองเพื่อนคู่คิดเพื่อส่งเสริมศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนการจัดการทรัพยากรป่าไม้และพันธุ์พืชอย่างยั่งยืนมียะยะเวลาดำเนินการ 2 ปี โดยในปีที่ 2 ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาสา บ้านห้วยสอนและบ้านห้วยเม่น เนื่องจากเป็นความต้องการขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไหล่น่าน ที่ต้องการให้ศึกษาเกี่ยวกับป่าชุมชนโดยมีงานหลัก 3 ส่วน ได้แก่ 1) การศึกษาศักยภาพการสะสมธาตุคาร์บอนในพื้นที่ป่าผลัดใบ 3 แห่งดังกล่าวข้างต้น และเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในพื้นที่ป่าผลัดใบอยู่ภายใต้การดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน 2) การศึกษารูปแบบการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้และของป่าในพื้นที่ป่าชุมชนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ศึกษา และ 3) การสร้างและใช้แบบจำลองอย่างมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องป่าชุมชนและการวางแผนการจัดการทรัพยากรป่าชุมชนในระดับตำบล ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ป่าผลัดใบที่เป็นป่าชุมชนที่ศึกษาเพิ่มเติมทั้ง 3 แห่ง มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและมีความเหมาะสมในการเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากชั้นบรรยากาศเพื่อประโยชน์ในการลดโลกร้อน โดยพื้นที่ป่าที่ศึกษาสามารถสะสมธาตุคาร์บอนได้ 21.15-47.89 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ สำหรับรูปแบบการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ พบว่าชาวบ้านมีการใช้ทรัพยากรที่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นการเก็บเกี่ยวเพื่อการบริโภคในครัวเรือน แต่พบว่าของป่าที่ไม่ใช่เนื้อไม้สามารถสร้างรายได้ประมาณ 18,900 บาทต่อคนต่อปี เมื่อนำความรู้ที่ได้มาสร้างเป็นแบบจำลองภาคีในรูปแบบเกมสวมบทบาทสมมุติและนำไปใช้กับตัวแทนหมู่บ้านจาก 8 หมู่บ้าน จำนวน 19 คนและตัวแทนจาก อบต. ไหล่น่าน 4 คน พบว่าเกมสามารถทำให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ในหลายด้าน เช่น เข้าใจสภาพป่าชุมชนในภาพรวมระดับตำบล เข้าใจความสำคัญของป่าชุมชนโดยเฉพาะการเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตป่าชุมชน ตลอดจนร่วมหาแนวทางจัดการป่าชุมชนในระดับตำบล อย่างไรก็ตามแม้ว่าการใช้แบบจำลองสามารถช่วยให้ชุมชนได้เข้าใจตนเองและเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้มากขึ้น แต่การติดตามการนำความรู้ที่ได้จากกิจกรรมไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมจัดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับงานวิจัยเพื่อการพัฒนา จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาในเรื่องนี้ต่อไป