Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจสอบกับรายงานผู้สอบบัญชี องค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วย (1) จำนวนคณะกรรมการตรวจสอบ (2) ความเป็นอิสระของคณะกรรมการตรวจสอบ (3) สัดส่วนการถือหุ้นของคณะกรรมการตรวจสอบ (4) ความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษทางการบัญชีหรือการเงินของคณะกรรมการตรวจสอบ และ (5) ความรู้ความชำนาญด้านการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการตรวจสอบ กลุ่มตัวอย่างคือบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี พ.ศ. 2546 ยกเว้นกลุ่มธนาคาร เงินทุนหลักทรัพย์ประกันชีวิตและประกันภัย การศึกษาในครั้งนี้ใช้สถิติเชิงพรรณนา (ความถี่และร้อยละ ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่ามัธยฐาน ค่าฐานนิยมและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) และสถิติเชิงอนุมาน (ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของสองประชากร และการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติค) ในการอธิบายผลการวิจัยและการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจสอบกับรายงานผู้สอบบัญชี ผลการทดสอบ ณ ระดับความเชื่อมั่นที่ 95% พบว่า สัดส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบที่มีความเป็นอิสระมีความสัมพันธ์เชิงลบกับโอกาส (ความน่าจะเป็น) ที่ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไปในทำนองเดียวกันพบว่า สัดส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบที่มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษทางการบัญชี หรือการเงินมีความสัมพันธ์เชิงลบกับโอกาส (ความน่าจะเป็น) ที่ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไป การศึกษานี้ได้ทดสอบตัวแปรควบคุมเพิ่มเติม ผลการทดสอบพบว่า ทิศทางความสัมพันธ์สอดคล้องกับงานวิจัยในอดีตทุกประการ กล่าวคือ ผู้สอบบัญชีมีแนวโน้มสูงที่จะแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไปในกรณีที่ (1) งวดที่แล้วกิจการได้รับรายงานแบบที่เปลี่ยนแปลงไป (2) อัตราส่วนของหนี้สินรวมต่อสินทรัพย์รวมอยู่ในระดับสูง และ (3) ถ้ากิจการผิดนัดชำระหนี้ ในทางตรงกันข้ามพบว่า ผู้สอบบัญชีมีแนวโน้มต่ำที่จะแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ในกรณีที่อัตราส่วนของกำไรสุทธิก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ต่อยอดขายสุทธิอยู่ในระดับสูง