Abstract:
การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยมาถึงเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายตลอดจนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งถูกกำหนดให้จ่ายให้กับผู้สูงอายุทุกคน งานวิจัยชิ้นนี้ใช้แบบจำลองคนเหลื่อมรุ่นมาทำการศึกษาและหลังจากนั้นก็ใช้กระบวนการจำลองสถานการณ์ (simulation) มาทำการศึกษา โดยแบบจำลองนี้สามารถแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านจากลักษณะสังคมในปัจจุบันไปสู่สังคมผู้สูงอายุได้ ซึ่งการจำลองสถานการณ์จะแบ่งออกเป็น 3 หมวดด้วยกัน ประกอบด้วย หมวดที่ 1 ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อระบบเศรษฐกิจ หมวดที่ 2 การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกับผลกระทบต่อภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้น และหมวดที่ 3 ซึ่งอธิบายถึง การจัดหาเงินทุนเพื่อตอบสนองต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาพบว่า รัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศและอายุของประชากรที่ยืนยาวขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นของรัฐบาลจะทำให้เกิดภาระทางการคลังเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการผลักภาระการชำระหนี้ไปให้คนรุ่นหลังมากขึ้น โดยการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นจะทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้มากกว่าการปรับเพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มก่อให้เกิดผลกระทบจากการบิดเบือนของภาษี (distortionary effect) ต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา