Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความแข็งแรงของการยึดติดของเรซินซีเมนต์ที่แข็งตัวด้วยปฏิกิริยาสองชนิด ภายใต้การแข็งตัวด้วยปฏิกิริยาทางเคมี โดยเปรียบเทียบกับเรซินซีเมนต์ที่แข็งตัวด้วยปฏิกิริยาทางเคมี
วัสดุและวิธีการ ทดสอบค่าแรงยึดเฉือนของเรซินซีเมนต์ 3 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเรซินซีเมนต์ที่แข็งตัวด้วยปฏิกิริยาทางเคมี 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Super Bond C&B® (SB) และ C&BTMCEMENT ร่วมกับสารยึดติด ALL-BOND 3 (CB) และเรซินซีเมนต์ที่แข็งตัวด้วยปฏิกิริยาสองระบบ 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ NX3 Nexus® ร่วมกับสารยึดติด OptiBondTM Solo Plus (NX) ตามข้อกำหนดของไอเอสโอ 11405 โดยทำการยึดเรซินซีเมนต์กับเนื้อฟันตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตด้วยแม่แบบทรงกระบอกที่ทำจากโลหะไร้สนิม และปล่อยให้เรซินซีเมนต์แข็งตัวด้วยปฏิกิริยาทางเคมีเท่านั้น จากนั้นทำการทดสอบค่าแรงยึดเฉือนที่ระยะเวลา 1 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมง
ผลการศึกษา กลุ่ม SB มีค่าแรงยึดเฉือนมากที่สุด ทั้งที่ระยะเวลา 1 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมง โดยมีค่า 19.22 ± 2.84 เมกะปาสคาล และ 34.04 ± 5.17 เมกะปาสคาล ตามลำดับ และกลุ่มที่มีค่าแรงยึดเฉือนน้อยที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือกลุ่ม CB ทั้งที่ระยะเวลา 1 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมง (p < 0.05) ซึ่งมีค่า 5.15 ± 1.12 เมกะปาสคาล และ 10.49 ± 2.81 เมกะปาสคาล ตามลำดับ โดยเมื่อเปรียบเทียบค่าแรงยึดเฉือนที่ระยะเวลา 1 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมงของเรซินซีเมนต์ผลิตภัณฑ์เดียวกัน พบว่าที่ระยะเวลา 24 ชั่วโมง เรซินซีเมนต์มีค่าแรงยึดเฉือนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกกลุ่ม
สรุปผลการศึกษา เรซินซีเมนต์แต่ละผลิตภัณฑ์จะมีค่าแรงยึดเฉือนต่อเนื้อฟันที่แตกต่างกัน โดยที่อะคริลิกเรซินซีเมนต์ที่แข็งตัวด้วยปฏิกิริยาทางเคมีจะมีค่าแรงยึดเฉือนมากที่สุด ซึ่งเป็นเรซินซีเมนต์ที่เหมาะในการยึดวัสดุบูรณะที่แสงไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้เมื่อระยะเวลาผ่านไป เรซินซีเมนต์ทุกผลิตภัณฑ์จะมีค่าแรงยึดเฉือนเพิ่มมากขึ้น