Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแสดงออกของซีดี 146 ในเยื่อเมือกช่องปากปกติ (NOM) ไลเคน แพลนัสช่องปาก (OLP) อีพิทีเลียล ดิสเพลเซียช่องปาก (OED) และมะเร็งเยื่อบุผิวเซลล์สควอมัสช่องปาก (OSCC) ในผู้ป่วยไทย โดยนำชิ้นเนื้อจากกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มละ 20 ชิ้นมาทำการศึกษาด้วยวิธีทางอิมมูโนฮิสโตเคมี เพื่อประเมินจำนวนเคอราติโนไซต์ที่มีการแสดงออกของซีดี 146 และความเข้มในการติดสี พบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของค่าเฉลี่ยร้อยละของจำนวนเคอราติโนไซต์ที่มีการแสดงออกของซีดี 146 ในกลุ่ม OLP (P < 0.001) และกลุ่ม OED (P < 0.001) เมื่อเทียบกับกลุ่ม NOM โดยกลุ่ม NOM, OLP, OED มีค่าเฉลี่ยร้อยละของจำนวนเคอราติโนไซต์ที่มีการแสดงออกของซีดี 146 เท่ากับ 19.04±15.32, 59.40±24.48, 60.04±28.87 ตามลำดับ พบการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของค่าเฉลี่ยร้อยละของจำนวนเคอราติโนไซต์ที่มีการแสดงออกของซีดี 146 ในกลุ่ม OSCC เมื่อเทียบกับกลุ่ม OED (P<0.001) โดยค่าเฉลี่ยร้อยละของจำนวนเคอราติโนไซต์ที่มีการแสดงออกของซีดี 146 ในกลุ่ม OSCC เท่ากับ 22.13±21.03 พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของความเข้มในการติดสีระหว่างกลุ่ม NOM กับกลุ่ม OLP (P<0.05) กลุ่ม NOM กับกลุ่ม OED (P<0.05) กลุ่ม OLP กับกลุ่ม OED (P<0.05) กลุ่ม OLP กับกลุ่ม OSCC (P<0.05) และกลุ่ม OED กับกลุ่ม OSCC (P<0.05) ชิ้นเนื้อส่วนใหญ่ของกลุ่ม NOM และกลุ่ม OSCC ติดสีเข้มระดับจาง กลุ่ม OLP ติดสีเข้มปานกลาง และกลุ่ม OED ติดสีเข้ม ผลการศึกษานี้พบว่าซีดี 146 อาจมีบทบาทหลายด้านในรอยโรคข้างต้น โดยมีการแสดงออกที่เพิ่มขึ้นในไลเคน แพลนัสและอีพิทีเลียล ดิสเพลเซียช่องปาก แต่มีการแสดงออกลดลงในมะเร็งเยื่อบุผิวเซลล์สควอมัสช่องปาก ซีดี 146 จึงอาจเกี่ยวข้องกับพยาธิกำเนิดของโรคไลเคน แพลนัสช่องปาก และการสูญเสียการแสดงออกของซีดี 146 อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงจากอีพิเลียล ดิสเพลเซียไปเป็นมะเร็งเยื่อบุผิวเซลล์สควอมัสช่องปากได้