Abstract:
สารละลายไคโตซานชนิด 80% DD สายยาว (P80) และสายสั้น (O80) และไคโตซานทีไม่ทราบโครงสร้างที่มีจำหน่ายในท้องตลาด (UCC) ถูกนำมาใช้ในการแช่เมล็ดก่อนปลูกและฉีดพ่นทางใบทุก ๆ 3 สัปดาห์ ที่ความเข้มข้น 25 50 และ 100 ppm แก่กระเจี๊ยบเขียว (Abelmoschus esculentus (L.) Monech) พันธุ์อินเดีย 9701 และพันธุ์ญี่ปุ่น Yamato Green โดยมีระยะเวลาการทดลอง 8 สัปดาห์ เพื่อศึกษาผลของขนาดพอลิเมอร์ และความเข้มข้นของไคโตซานที่มีต่อการเติบโตและผลผลิตของกระเจี๊ยบเขียว การติดเชื้อไวรัสเส้นใบเหลือง (Okra yellow vein mosaic virus) และการกัดกินของหนอนกระทู้หอม (Spodoptera exigua Hubner, 1808) จากการศึกษาพบว่าผลที่ได้จากการทดลองที่ทำซ้ำใน 2 ปีมีความแตกต่างกันมาก แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่สำคัญจากสภาวะแวดล้อม และแม้ว่าผลการทดลองส่วนใหญ่จะไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด แนวโน้มบางประการของผลของไคโตซานที่มีต่อกระเจี๊ยบเขียวยังสามารถวัดได้ จากการแช่เมล็ดในสารละลายไคโตซาน พบว่าไคโตซานทุกชนิดและทุกความเข้มข้น มีแนวโน้มที่จะทำให้ต้นกล้ากระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ญี่ปุ่น Yamato Green สูงกว่าชุดการทดลองควบคุมที่ไม่ได้รับไคโตซาน และเมื่อทำการฉีดพ่นไคโตซานทางใบพบว่ากระเจี๊ยบเขียวพันธุ์อินเดีย 9701 ที่ได้รับ O80 ที่ 25 ppm และ UCC ที่100 ppm มีแนวโน้มที่จะมีความสูงเฉลี่ย จำนวนใบ ดอกและผล เฉลี่ยต่อต้นสูงกว่าชุดการทดลองควบคุม ผลที่คล้ายคลึงกันสามารถพบได้ในกระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ญี่ปุ่น Yamato Green ที่ฉีดพ่นด้วย O80 ที่ 25 ppm นอกจากนี้ยังพบว่าการให้ O80 ที่ 25 ppm และ p80 ที่ 100 ppm ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของกระเจี๊ยบเขียวพันธุ์อินเดีย 9701 อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การฉีดพ่นไคโตซานเกือบทุกชนิด ยกเว้น O80 ที่ 100 ppm ส่งผลให้กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์นี้มีปริมาณน้ำภายในต้นต่อน้ำหนักสดเฉลี่ยต่อต้นน้อยกว่าต้นที่ไม่ได้รับไคโตซาน ในฝักกระเจี๊ยบเขียวพันธุ์อินเดีย 9701 ที่เก็บจากต้นที่ได้รับ O80 ที่ 25 ppm พบว่ามีแนวโน้มที่จะสูญเสียน้ำหนักสดช้ากว่าชุดการทดลองควบคุม เป็นที่น่าสนใจว่าการให้ O80 ที่ 50 ppm และ UCC ที่ 25 ppm มีแนวโน้มที่จะสามารถช่วยชะลอการติดโรคไวรัสเส้นใบเหลืองในกระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ญี่ปุ่น Yamato Green ได้ สำหรับของไคโตซานต่อการกัดกินของหนอนกระทู้หอมไม่สามารถสรุปได้ชัดเจ้นในการศึกษานี้ อย่างไรก็ดีการฉีดพ่น UCC ที่ 50 ppm สามารถกระตุ้นปริมาณ proteinase inhibitor (PI) activity ในในกระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ญี่ปุ่น Yamato Green ให้สูงขึ้นได้ภายใน 1 วันแม้ว่าระดับ PI ที่เพิ่มขึ้นนี้จะลดลงภายใน 5 วันหลังการฉีดพ่น จากผลการทดลองที่ได้ โดยรวมแสดงให้เห็นว่าไคโตซานที่มีขนาดพอลิเมอร์ และความเข้มข้นต่างกัน มีผลต่อการเติบโตและผลผลิตของกระเจี๊ยบเขียว การติดเชื้อไวรัสเส้นใบเหลือง และการกัดกินของหนอนกระทู้หอมต่างกันด้วย อย่างไรก็ดีการตอบสนองของกระเจี๊ยบเขียวต่อไคโตซาน ยังขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และอิทธิพลของสภาวะแวดล้อม ซึ่งบางครั้งอาจบดบังผลของการให้ไคโตซานได้ สำหรับผลของแคลเซียมคลอไรด์และไคโตซานต่ออายุการเก็บรักษา และคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวฝักกระเจี๊ยบเขียว โดยใช้แคลเซียมคลอไรด์ที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 0 0.10 0.25 0.50 0.75 1.00 2.00 3.00 และ 4.00 และไคโตซานที่ระดับความเข้มข้น 0 5 10 20 50 และ 100 ppm และเก็บรักษาที่ 2 อุณหภูมิ คือ 9 องศาเซลเซียส และ 18 องศาเซลเซียส พบว่า การเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 9 องศาเซลเซียส แคลเซียมคลอไรด์ ระดับความเข้มข้นร้อยละ 0.05 สามารถรักษาน้ำหนักของฝัก และลักษณะที่ปรากฏภายนอกได้ ส่วนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส ผลการศึกษาพบว่า แคลเซียมคลอไรด์ที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 0.25 ช่วยรักษาความแน่นเนื้อ และสีของฝักได้ สำหรับผลของไคโตซานต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของฝักกระเจี๊ยบเขียว พบว่า ที่อุณหภูมิ 9 องศาเซลเซียส ไคโตซานระดับความเข้มข้น 20 ppm ช่วยรักษาความแน่นเนื้อได้ดีที่สุด ส่วนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส ผลการศึกษาพบว่า ไคโตซานสามารถรักษาน้ำหนักของฝักได้ดี และไคโตซานที่ระดับความเข้มข้น 5 และ 10 ppm ไม่พบการเข้าทำลายของโรคตลอดระยะเวลาของการเก็บรักษา นอกจากนี้ ยังพบว่า การใช้แคลเซียมคลอไรด์เพียงอย่างเดียว หรือ ไคโตซานเพียงอย่างเดียว สามารถรักษาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของฝักกระเจี๊ยบเขียวทั้งที่อุณหภูมิ 9 องศาเซลเซียส และ 18 องศาเซลเซียส ได้ดีกว่าการใช้แคลเซียมคลอไรด์ร่วมกับไคโตซาน