Abstract:
การทดลองนี้ แบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 เพื่อคัดเลือกกลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกที่เหมาะสมสำหรับใช้ในระบบจำลองในระยะที่ 2 โดยปลูกหญ้าแฝก 6 กลุ่มพันธุ์คือ กำแพงเพชร2 ศรีลังกา สงขลา3 สุราษฏร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี ในถังน้ำที่บรรจุน้ำเสียชุมชนความเข้มข้นต่ำ (ค่าเฉลี่ยบีโอดี ทีเคเอ็น และฟอสฟอรัสทั้งหมด 55.88, 40.297 และ6.022 mg/1 ตามลำดับ) นาน8สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า หญ้าแฝกกลุ่มพันธุ์สงขลา3 และสุราษฏร์ธานี มีประสิทธิภาพการบำบัดบีโอดี ฟอสฟอรัสทั้งหมด และออร์โธฟอสเฟตสูงเป็น 2 ลำดับแรก มีค่าอยู่ในช่วง80.07-81.06, 16.38-16.81 และ 10.39-12.87% ตามลำดับ รวมทั้งมีการเจริญเติบโตและการสะสมธาตุอาหาร (ไนโตรเจนทั้งหมดและฟอสฟอรัสทั้งหมด) สูง ระยะที่2 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียชุมชนของหญ้าแฝกในระบบบำบัดจำลอง โดยปลูกหญ้าแฝกกลุ่มพันธุ์สงขลา3 และสุราษฏร์ธานีในบ่อพีวีซีขนาด 0.85x1.55x0.50 ม. โดยชุดควบคุมไม่ปลูกพืช ใช้น้ำเสียชุมชนความเข้มข้นต่ำ (ค่าเฉลี่ยบีโอดี ทีเคเอ็น และฟอสฟอรัสทั้งหมด 44.28-58.92, 34.731-42.144 และ4.838-5.482 mg/1 ตามลำดับ) และความเข้มข้นสูง (ค่าเฉลี่ยบีโอดี ทีเคเอ็น และฟอสฟอรัสทั้งหมด 90.12-94.88, 41.025-52.806 และ5.892-6.657 mg/1ตามลำดับ) แบ่งการทดลองเป็น3ช่วง ช่วงละ 8 สัปดาห์ แต่ละช่วงใช้ระยะเวลากักเก็บ 7, 5 และ3 วัน ตามลำดับ และใช้การปล่อยน้ำเสียแบบต่อเนื่อง ผลการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพบำบัดน้ำเสียเมื่อใช้ระยะเวลากักเก็บและความเข้มข้นของน้ำเสียต่างกันมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเมื่อใช้ระยะเวลากักเก็บ 7 วัน มีประสิทธิภาพการบำบัดสูงสุด โดยชุดทดลองที่ได้รับน้ำเสียความเข้มข้นสูงมีประสิทธิภาพการบำบัดบีโอดี ทีเคเอ็น ฟอสฟอรัสทั้งหมด และออร์โธฟอสเฟตสูงสุด มีค่าอยู่ในช่วง 90.54-91.46, 61.01-62.48, 17.78-35.87, และ 15.40-23.46% ตามลำดับ และชุดทดลองที่ได้รับน้ำเสียความเข้มข้นต่ำมีประสิทธิภาพการบำบัดแอมโมเนียไนโตรเจนสูงสุด มีค่าอยู่ในช่วง 50.22-58.62% แต่ประสิทธิภาพการบำบัดของหญ้าแฝกต่างกลุ่มพันธุ์ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามพบว่าชุดทดลองที่ปลูกหญ้าแฝกมีประสิทธิภาพการบำบัดสูงกว่าชุดควบคุม (ไม่ปลูกพืช) สำหรับการเจริญเติบโตของหญ้าแฝกพบว่า หญ้าแฝกทั้ง 2 กลุ่มพันธุ์มีการเจริญเติบโตดี และมีแนวโน้มว่าหญ้าแฝกกลุ่มพันธุ์สุราษฏร์ธานีมีการเจริญเติบโตของรากดีกว่ากลุ่มพันธุ์สงขลา3 อย่างไรก็ตาม หญ้าแฝกกลุ่มพันธุ์สงขลา3 มีการเพิ่มพูนมวลชีวภาพสูงสุดเมื่อได้รับน้ำเสียความเข้มข้นสูง ขณะที่กลุ่มพันธุ์สุราษฏร์ธานี มีการเพิ่มพูนมวลชีวภาพสูงสุดเมื่อได้รับน้ำเสียความเข้มข้นต่ำ สำหรับการสะสมธาตุอาหารในต้นและรากของหญ้าแฝกพบว่า โดยทั่วไปการสะสมธาตุอาหารมีค่าแปรผันตามระดับความเข้มข้นของน้ำเสีย และเมื่อใช้ระยะเวลากักเก็บ 7 วันหญ้าแฝกมีการสะสมธาตุอาหารในรากได้สูงสุด ดังนั้นผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า การปลูกหญ้าแฝกด้วยเทคนิคแท่นลอยน้ำเพื่อบำบัดน้ำเสียชุมชน ควรใช้ระยะเวลากักเก็บ 7 วัน และใช้หญ้าแฝกกลุ่มพันธุ์สุราษฏร์ธานี แต่หากน้ำเสียมีบีโอดี และธาตุอาหารสูงสามารถใช้หญ้าแฝกกลุ่มพันธุ์สงขลา3 ได้