Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาและบริบทของช่างแกะสลักเครื่องดนตรีไทย หมู่บ้านตลาดปิ่นแก้ว ตำบลมารวิชัย อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อทำการศึกษาชีวิตความเป็นอยู่และการสืบทอดของช่างแกะสลักเครื่องดนตรีไทยหมู่บ้านตลาดปิ่นแก้ว และวิเคราะห์จุดเด่นของช่างหมู่บ้านตลาดปิ่นแก้ว ตำบลมารวิชัย อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลจากการศึกษาพบว่า ช่างแกะสลัก หมู่บ้านตลาดปิ่นแก้วประกอบอาชีพที่เป็นบริบทของดนตรีไทยโดยรับจ้างแกะสลักเครื่องดนตรีไทยเท่านั้นเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงครอบครัว หมู่บ้านแห่งนี้มีช่างแกะสลักเครื่องดนตรีไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่นักดนตรีไทย 8 คน ในปี พ.ศ. 2506 ครูพิม เกิดทรงเป็นครูท่านแรกที่เริ่มถ่ายทอดวิชาการแกะสลักเครื่องดนตรีไทย ให้กับน้องชายเป็นคนแรก จากการศึกษาพบว่ามีการสืบทอด 2 รูปแบบคือการสืบทอดภายในระบบเครือญาติ และการสืบทอดระบบฝากตัวเป็นศิษย์ ช่างรับแกะสลักเครื่องดนตรีไทยทั้งหมด 7 ชนิด การแกะสลักเครื่องดนตรีไทยที่หมู่บ้านตลาดปิ่นแก้วรับการสั่งจ้างมากที่สุด เป็นอันดับหนึ่งคือการแกะสลักฆ้องมอญโดยใช้ลายทั้งหมด 11 ลาย จากการวิเคราะห์ลายประจำยามและลายกนกซึ่งเป็นลายหลักและเป็นลายสำคัญที่ใช้ในการขึ้นลายอื่น ๆ ต่อไปนั้นพบว่าจุดเด่นของการแกะสลักปรากฏลักษณะเฉพาะคือลายดอกประจำยามมีขั้นตอนการแกะสลัก 6 ขั้นตอน คือ การเตรียมไม้ การเตรียมเครื่องมือ การเซาะร่อง การแต่งกลีบ การแต่งเกสร และการเก็บรายละเอียดความคมชัด ส่วนลายกนกมีวิธีการแกะ 9 ขั้นตอนคือ การเตรียมไม้ การเตรียมเครื่องมือ การเซาะร่อง การปาดลายกนก การแลกนก การทำลายกนกเปลว การขมวดหัวกนก การทำลายด้านในตัวกนก และการแต่งหยักกนก จากการวิเคราะห์ลายประจำยามและลายกนกของหมู่บ้านตลาดปิ่นแก้วพบจุดเด่นที่มีลักษณะร่วมกัน 4 ประการดังนี้ 1. ลายมีความอ่อนช้อย สวยงาม 2. ลายมีความคมชัด ร่องลึก ขอบลายมีความคม 3. ลายมีความละเอียด ชัดเจน ถี่ถ้วน 4. สัดส่วนเครื่องดนตรีมีความเหมาะสมกับสรีระของนักดนตรี นอกจากนี้ยังพบว่าราคามีความเหมาะสมกับเครื่องดนตรี และผู้นำไปใช้มีความภาคภูมิใจ เนื่องจากชื่อเสียงของช่างหมู่บ้านตลาดปิ่นแก้วและความสวยงามที่ได้สัดส่วนลงตัว