Abstract:
การวิจัยเรื่อง บทบาทการเกี้ยวในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา และองค์ประกอบการแสดงบทบาทการเกี้ยวในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ของกรมศิลปากร จำนวน 3 ตอน ได้แก่ ตอนพระรามเกี้ยวนางสีดา อยู่ในการแสดงโขนชุดสีดาลุยไฟและปราบบรรลัยกัลป์ ตอนทศกัณฐ์เกี้ยวนางมณโฑ อยู่ในการแสดงโขนชุดนางมณโฑ หุงน้ำทิพย์ และตอนพาลีเกี้ยวนางเทพดารา อยู่ในการแสดงโขนชุดพาลีสอนน้อง วิธีดำเนินการวิจัยประกอบด้วยการศึกษาการรวบรวมข้อมูลจากวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำราและเอกสารวิชาการ บทโขน และ สูจิบัตรการแสดง การลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ศิลปิน ผู้แสดงและรับการถ่ายทอด และการสังเกตการแสดง หลังจากนั้นจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำเสนอเป็นรายงานการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า บทบาทการเกี้ยวในรูปแบบการแสดงโขน ได้รับการถ่ายทอดมาจาก กรมมหรสพ ปรากฏหลักฐานของการแสดงของกรมศิลปากรครั้งแรก จำนวน 4 ตอน เมื่อพ.ศ. 2478 - 2488 ปัจจุบันบทบาทการเกี้ยวในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ของกรมศิลปากรมีทั้งสิ้นจำนวน 17 ตอน สำหรับการแสดงบทบาทการเกี้ยวเป็นการแสดงให้เห็นถึงการมอบความรัก และความห่วงใยระหว่างเพศชายและเพศหญิง ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านวรรณกรรมและนาฏยศิลป์ โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน อันได้แก่ 1)ขั้นตอนการชมโฉม 2)ขั้นตอนการพูดจาหยอกล้อ 3)ขั้นตอนการเล้าโลม และ 4)ขั้นตอนการประดิพัทธ์ ซึ่งขั้นตอนที่สำคัญที่สุดและเป็นจุดประสงค์หลักในการแสดงบทบาทการเกี้ยว คือ ขั้นตอนการเล้าโลม ส่วนกระบวนท่ารำนั้นเป็นการรำตีบทตามคำร้อง ซึ่งท่าทางที่แสดงออกมาเป็นกระบวนท่าเลียนแบบท่ากิริยาธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปที่มีความรัก และยังมีการรำตามทำนองเพลงโดยใช้เพลงหน้าพาทย์โลมหรือตระนอนเพื่อเป็นการสื่อถึงการได้ประดิพัทธ์ นอกจากนี้ รูปแบบการแสดงบทบาทการเกี้ยวในการแสดงโขนทั้ง 3 ตอน ปรากฏว่า มีลักษณะทั้งนั่งเกี้ยวและยืนเกี้ยว ซึ่งพระรามเกี้ยวนางสีดาและทศกัณฐ์เกี้ยวนางมณโฑ เป็นรูปแบบเฉพาะนั่งเกี้ยว