Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการเล่าเรื่องและการใช้สัญลักษณ์ในวรรณกรรมท์ซุฌิมะยูโกะ นักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่นผู้รังสรรค์งานเขียนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2และวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูก ในวรรณกรรมทั้งห้าเรื่อง ได้แก่ โจจิ ฮิกะริโนะเรียวบุน โยะรุโนะฮิกะรินิ โอวะเระเตะ มะฮิรุเอะ นาราเระโพโตะ จากการศึกษาพบว่า ในแต่ละช่วงชีวิตของท์ซุฌิมะ ยูโกะมีอิทธิพลต่อการรังสรรค์ผลงานอย่างมาก ทำให้กลวิธีการเล่าเรื่องและการใช้สัญลักษณ์มีความเปลี่ยนแปลง โดย ผลงานสองเรื่องแรก คือ โจจิ และ ฮิกะริโนะเรียวบุน จะใช้กลวิธีการเล่าเรื่องและการใช้สัญลักษณ์เพื่อนำเสนอภาพของตัวละครที่มีสถานะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งเป็นลักษณะแม่รูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากที่สังคมรับรู้ แต่เมื่อภายหลังจากลูกชายเสียชีวิตส่งผลให้กลวิธีการเล่าเรื่องและการใช้สัญลักษณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปดังปรากฏในผลงานเรื่อง โยะรุโนะฮิกะรินิโอะวะเระเตะ และ มะฮิรุเอะ จะใช้กลวิธีการเล่าเรื่องและการใช้สัญลักษณ์เพื่อปลอบประโลมจิตใจของแม่ที่สูญเสียลูกชายและย้อนมองตนเองเพื่อทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและแม่ ส่วนผลงานเรื่อง นาราเระโพโตะ ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องและสัญลักษณ์ที่แตกต่างออกไป คือตัวละครลูกชายเป็นผู้เล่าเรื่อง ได้มีการใช้และการนำเอาวรรณกรรมโบราณที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา รวมถึงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ เพื่อแสดงความไม่เท่าเทียมระหว่างระหว่างชายหญิง จากประเด็นทั้งที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผู้วิจัยได้ตระหนักเกี่ยวกับประเด็นเกี่ยวกับความคาดหวังทางสังคมที่มีต่อสตรี และจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้เขียนได้นำเสนอภาพของแม่ที่มีชีวิตอย่างอิสระ มีความเป็นปัจเจกชน ผู้เลี้ยงดูบุตรให้เติบโตเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก ความคิดในฐานะบุคคลคนหนึ่งมากกว่าการมุ่งหวังให้ลูกเติบโตตามความคาดหวังของสังคม