Abstract:
การศึกษาผลของไคโตซานที่มีต่อกล้วยไม้หวาย “เอียสกุล” ใช้ไคโตซาน 6 แบบ ได้แก่ P-70 O-70 P-80 O-80 P-90 และ O-90 ซึ่งมีน้ำหนักโมเลกุลเท่ากับ 400,000 30,000 530,000 45,000 450,000 และ 110,000 ตามลำดับ พบว่า รูปแบบของโมเลกุล และความเข้มข้นของไคโตซานมีผลต่อการเติบโตแบบไม่อาศัยเพศในบางช่วงที่ทำการทดลอง เมื่อให้ไคโตซานเป็นเวลา 24 สัปดาห์ รูปแบบและความเข้มข้นของไคโตซานมีผลทำให้กล้วยไม้มีน้ำหนักแห้งของลำต้นแตกต่างกัน และเมื่อเวลาผ่านไป 36 สัปดาห์ ก็มีผลต่อพื้นที่ใบต่อต้น น้ำหนักสด และน้ำหนักแห้งใบไคโตซานไม่มีผลต่อปริมาณรงควัตถุ และการเติบโตที่เกี่ยวกับเพศ ได้แก่ จำนวนช่อดอก จำนวนดอกต่อช่อ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ความยาวช่อดอก เส้นผ่านศูนย์กลางก้านช่อดอก แต่มีข้อยกเว้นคือ ไคโตซานทุกแบบที่ทุกระดับความเข้มข้น ทำให้กล้วยไม้หวาย “เอียสกุล” เริ่มออกดอกเร็วกว่าชุดการทดลองที่ไม่ได้รับไคโตซาน นอกจากนี้ไคโตซานยังส่งผลต่อขนาดของคลอโรพลาสต์ทั้งในใบอ่อนและในใบแก่ เมื่อทำการศึกษาโดยใช้ไคโตซาน O-80 ที่ระดับความเข้มข้น 1 10 50 และ 100 พีพีเอ็ม พบว่าคลอโรพลาสต์ในใบอ่อนมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อได้รับไคโตซานที่ระดับความเข้มข้น 10 และ 50 พีพีเอ็ม ส่วนในใบแก่เฉพาะ O-80 ที่ระดับความเข้มข้น 50 พีพีเอ็ม ที่มีผลต่อการเพิ่มขนาดของคลอโรพลาสต์ให้มีขนาดใหญกว่าคลอโรพลาสต์ที่ได้จากใบของต้นที่ไม่ได้รับไคโตซาน ไคโตซาน O-80 นี้ยังมีผลชักนำการสร้าง silica bodies ทั้งในใบแก่และใบอ่อน การเพิ่มขึ้นของ silica bodies นี้มีรายงานว่ามีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการทนต่อภาวะเครียดของพืช นอกจากนี้ข้อมูลเหล่านี้ยังชี้ให้เห็นว่าไคโตซานอาจมีบทบาทเกี่ยวข้องกับ silica metabolism ของพืช อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าประหลาดใจว่า ไคโตซานทุกรูปแบบและทุกระดับความเข้มข้นที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ไม่มีผลต่อความสามารถในการต้านทานโรคของกล้วยไม้หวาย “เอียสกุล” ทั้งนี้อาจเนื่องจากจุลินทรีย์ก่อโรคที่คัดแยกและนำมาใช้ในการศึกษานี้มีความรุนแรงต่ำ