Abstract:
คณะสงฆ์และสถาบันทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยแต่เดิมมิได้มีธรรมเนียมปฏิบัติในการสงเคราะห์ประชาชนด้วยการสร้างสถานพยาบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าและ ฯลฯ แบบองค์กรทางศาสนาอื่น มักเป็นที่เข้าใจกันว่าหน้าที่ของพระสงฆ์และสถาบันทางพระพุทธศาสนาคือ การสงเคราะห์ประชาชนด้านธรรมะเท่านั้น และมีข้อโต้แย้งว่าพระสงฆ์ไม่ควรเข้าไปทำกิจกรรมด้านสังคมสงเคราะห์ เนื่องจากเป็นกิจกรรมทางโลก ด้วยเหตุดังกล่าว งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของสถาบันทางพระพุทธศาสนาในการทางานสังคมสงเคราะห์และประเมินประสิทธิภาพและความสำเร็จของสถาบันทางพระพุทธศาสนาเหล่านั้น ผลการวิจัยที่ได้จากการสัมภาษณ์และจากข้อมูลเอกสารพบว่า 1. พระภิกษุสงฆ์ นักวิชาการและบุคคลทั่วไปสนับสนุนการทำงานสังคมสงเคราะห์ของสถาบันทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากสอดคล้องกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา และเป็นการทำเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งที่สวัสดิการของรัฐยังเข้าไปไม่ถึง 2. วัดทั้งห้าวัด และเสถียรธรรมสถานมีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกัน แต่เผชิญปัญหาและอุปสรรคที่คล้ายคลึงกัน เช่น ด้านเงินทุนและบุคลากร ขณะที่เสถียรธรรมสถานได้รับความร่วมมือจากชุมชนและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในระดับที่น่าพึงพอใจ ชาวบ้านมักมีทัศนคติว่างานสังคมสงเคราะห์ที่วัดทั้งหลายทำมิใช่ “กิจของสงฆ์” 3. การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพน่าจะเป็นการทำงานเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ โดยการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับรัฐและชุมชนรวมทั้งองค์กรเอกชน และใช้สื่อช่วยในการเผยแพร่กิจกรรมต่าง ๆ ให้มากขึ้น ที่สำคัญคือการสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานสังคมสงเคราะห์กับการเผยแผ่ธรรม นอกจากนั้นพระสงฆ์ต้องมีความระมัดระวังด้านความประพฤติให้อยู่ในกรอบของพระวินัยและจารีตประเพณีในขณะปฏิบัติภารกิจให้การสงเคราะห์ประชาชน ในภาพรวม งานวิจัยนี้ช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานสังคมสงเคราะห์ของสถาบันทางพระพุทธศาสนาในสังคมพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และสามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่างสำหรับพระสงฆ์และวัดอื่น ๆ ที่ดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันได้