Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ค่าระยะเวลาของเสียงเรียงในภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 12 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยมาตรฐาน ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาไทยวน ภาษามอญ ภาษาเขมรถิ่นไทย ภาษาเวียดนาม ภาษาพม่า ภาษากะเหรี่ยงสะกอ ภาษามาเลย์มาตรฐาน ภาษาเซบัวโน ภาษาม้งเขียว และภาษาเมี่ยน ข้อมูลภาษาที่นำมาวิเคราะห์เป็นคำพูดต่อเนื่องจากผู้บอกภาษาภาษาละ 3 คน รวมเป็น 36 คน โดยใช้ข้อมูลประมาณ 30 วินาทีจากผู้บอกภาษาแต่ละคน รวมเป็นข้อมูลประมาณ 90 วินาทีต่อ 1 ภาษา ซึ่งนำมากำหนดขอบเขตช่วงเสียง 4 ประเภท คือ ช่วงเสียงสระ ช่วงเสียงพยัญชนะ ช่วงเสียงก้อง และช่วงเสียงไม่ก้อง แล้วนำค่าระยะเวลาของช่วงเสียงทั้ง 4 ประเภท มาสร้างตัวแปร 8 ตัวแปร เพื่อจัดกลุ่มภาษาตามแบบจำลองของ Ramus et al. (1999) Grabe and Low (2002) และ Dellwo et al. (2007) ตัวแปรทั้ง 8 ตัวแปร ได้แก่ 1) สัดส่วนของค่าระยะเวลาของช่วงเสียงสระต่อค่าระยะเวลาทั้งหมดของถ้อยความ (%V) 2) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าระยะเวลาของช่วงเสียงสระ (∆V) 3) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าระยะเวลาของช่วงเสียงพยัญชนะ (∆C) 4) ดัชนีแสดงความแตกต่างระหว่างค่าระยะเวลาของช่วงเสียงพยัญชนะหนึ่งกับช่วงเสียงพยัญชนะที่ตามมา (rPVI_C) 5) ดัชนีแสดงความแตกต่างระหว่างค่าระยะเวลาของช่วงเสียงสระหนึ่งกับช่วงเสียงสระที่ตามมา (nPVI_V) 6) สัดส่วนของค่าระยะเวลาของช่วงเสียงก้องต่อค่าระยะเวลาทั้งหมดของถ้อยความ (%VO) 7) ค่าสัมประสิทธิ์ความแปรปรวนของช่วงเสียงไม่ก้อง (varcoUV) และ 8) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าระยะเวลาของช่วงเสียงไม่ก้อง (∆UV) นอกจากนี้ ยังได้นำตัวแปรข้างต้นมาวิเคราะห์องค์ประกอบหลักเพื่อจัดให้ตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กันอยู่ในองค์ประกอบเดียวกัน ลักษณะทางสัทศาสตร์และสัทวิทยาที่คาดว่ามีอิทธิพลต่อตัวแปรที่นำมาพิจารณาในสมมติฐาน ได้แก่ ความซับซ้อนของโครงสร้างพยางค์ ความสั้นยาวของสระที่มีหรือไม่มีนัยสำคัญทางภาษาศาสตร์ และการลงเสียงหนักเบาประจำคำ ผลการวิเคราะห์มีบางส่วนที่คัดค้านสมมติฐาน ได้แก่ 1) ตัวแปร %V และ %VO ในภาษาที่โครงสร้างพยางค์ซับซ้อน ไม่ได้มีค่าน้อยกว่าในภาษาที่โครงสร้างพยางค์ไม่ซับซ้อนเสมอไป 2) ตัวแปร ∆C และ varcoUV ในภาษาที่โครงสร้างพยางค์ซับซ้อน ไม่ได้มีค่ามากกว่าในภาษาที่โครงสร้างพยางค์ไม่ซับซ้อนเสมอไป และ 3) ตัวแปร ∆V ในภาษาที่ความสั้นยาวของสระมีนัยสำคัญทางภาษาศาสตร์ ไม่ได้มีค่ามากกว่าในภาษาที่ความสั้นยาวของสระไม่มีนัยสำคัญทางภาษาศาสตร์เสมอไป ผลการวิเคราะห์ส่วนที่ยืนยันสมมติฐานมี 3 ข้อ คือ 1) ค่า nPVI_V ในภาษาที่มีการลงเสียงหนักเบาประจำคำ มากกว่าในภาษาที่ไม่มีการลงเสียงหนักเบาประจำคำ 2) ค่า %VO ในภาษาที่ความสั้นยาวของสระมีนัยสำคัญทางภาษาศาสตร์มากกว่าในภาษาที่ความสั้นยาวของสระไม่มีนัยสำคัญทางภาษาศาสตร์ และ 3) รูปแบบค่าระยะเวลาของเสียงเรียงนำมาจัดกลุ่มภาษาได้ ผู้วิจัยได้เสนอแนวคิดใหม่ในการวิเคราะห์ตัวแปรที่สร้างจากค่าระยะเวลาของเสียงเรียงด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก ผลการวิเคราะห์การจัดกลุ่มภาษาด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก พบว่า จัดกลุ่มภาษาได้ 4 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มภาษามอญ-ภาษาเขมรถิ่นไทย 2) กลุ่มภาษาพม่า-ภาษาม้งเขียว 3) กลุ่มภาษาเวียดนาม-ภาษาไทยถิ่นใต้-ภาษาไทยวน และ 4) กลุ่มภาษามาเลย์มาตรฐาน-ภาษาเซบัวโน ส่วนภาษาไทยมาตรฐาน ภาษากะเหรี่ยงสะกอ และภาษาเมี่ยน ไม่เกาะกลุ่มกับภาษาอื่นอย่างชัดเจน ลักษณะทางสัทศาสตร์และสัทวิทยาที่อาจมีผลต่อการจัดกลุ่มภาษาเหล่านี้ ได้แก่ จำนวนพยางค์ในคำ วรรณยุกต์ และคุณสมบัติน้ำเสียง