Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ความเครียด ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ และสุขภาวะของนักวิชาชีพผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต กลุ่มตัวอย่างคือ นักวิชาชีพผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตจำนวน 149 คนอายุเฉลี่ย 33.81 ± 8.79 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) มาตรวัดการรับรู้ความเครียด 2) มาตรวัดความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ 3) มาตรวัดความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ และ 4) มาตรวัดสุขภาวะแบบ 5 องค์ประกอบ วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและ การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า ความเครียด และความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับสุขภาวะของนักวิชาชีพสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001 (r = -.47 และ -.34 ตามลำดับ, p < .001) ในขณะที่ความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจมีค่าสหสัมพันธ์บวกกับสุขภาวะของนักวิชาชีพสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001 (r = .67, p < .001) โดยที่ความเครียด ความอ่อนล้าในการเห็นอกเห็นใจ และความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ สามารถร่วมกันทำนายสุขภาวะของนักวิชาชีพทีให้บริการด้านสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสามารถอธิบายความแปรปรวนของสุขภาวะในนักวิชาชีพทีให้บริการด้านสุขภาพจิตได้ ร้อยละ 47.8 (R2 = .478, p < .001) ในขณะที่ตัวแปรความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ไม่สามารถทำนายสุขภาวะของนักวิชาชีพสุขภาพจิตได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R2 = .478, p = .346) ซึ่งความเครียด มีน้ำหนักในการทำนายสูงที่สุด (β = -.81, p < .01) ตามมาด้วย ความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ (β = .59, p < .001)