Abstract:
ความเต็มใจจ่ายของผู้โดยสารสามารถใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ความเหมาะสมของการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสารได้ โดยวัดจากความเต็มใจจ่ายของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อแลกกับเวลาที่ใช้ในการเดินทางลดลงหรือระดับการบริการที่เพิ่มขึ้น การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหามูลค่าเวลาและความเต็มใจจ่ายของผู้โดยสารที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าเปรียบเทียบกับรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งผลกระทบของปัจจัยด้านคุณภาพการให้บริการต่อระดับความพึงพอใจด้านค่าโดยสารของผู้โดยสาร โดยรวบรวมข้อมูลของผู้โดยสารด้วยวิธีทฤษฎีเปิดเผยความพึงพอใจ ทั้งนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ แบบจำลองการถดถอยโลจิสติกส์ทวิร่วมกับอัตราส่วนเพิ่มสุดท้ายของการทดแทนกันระหว่างเวลาที่ใช้ในการเดินทางและค่าโดยสาร และการวิเคราะห์องค์ประกอบร่วมกับแบบจำลองการวิเคราะห์การถดถอยโพรบิตแบบเรียงลำดับ ผลการศึกษาด้วยแบบจำลองการถดถอยโลจิสติกส์ทวิพบว่า ผู้โดยสารในกรุงเทพมหานครมีความเต็มใจที่จะจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 37.14 บาทถ้าการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสามารถประหยัดเวลาการเดินทางได้ 60 นาทีเมื่อเทียบกับรถโดยสารประจำทาง ในส่วนของการศึกษาผลกระทบของปัจจัยด้านคุณภาพการให้บริการต่อความพึงพอใจด้านค่าโดยสาร พบว่าผู้โดยสารทั้งสองระบบการเดินทาง จะมีความพึงพอใจด้านค่าโดยสารเพิ่มขึ้นถ้ามีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการด้านเวลาที่ใช้ในการเดินทาง