Abstract:
ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปเข้าสู่ระบบทุนนิยม ความเหงากำลังเป็นภัยคุกคามผู้คนในปัจจุบัน งานศึกษาชิ้นนี้จึงมุ่งศึกษาบทบาทของทุนนิยมที่มีต่อความเหงาของกลุ่มคนเจนเนอเรชั่นวาย (Generation Y) หรือเกิดระหว่างปี พ.ศ. 2524 – 2540 ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ก้าวเข้าสู่สังคมทุนนิยมอย่างเต็มตัว
วิธีการศึกษาที่ใช้ประกอบด้วย การศึกษาในเชิงปริมาณผ่านการใช้มาตรวัดความเหงา UCLA Loneliness Scale Version 3 ซึ่งวัดความเหงามิติความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อให้เห็นภาพความเหงามิติความสัมพันธ์ในภาพรวม และใช้การศึกษาในเชิงคุณภาพแบบวิธีปรากฎการณ์วิทยา ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยข้อมูลทั้งหมดวิเคราะห์ภายใต้กรอบแนวคิดวิพากษ์สังคมทุนนิยม และแนวคิดจิตวิทยาทางสังคมมาร์กซิสต์ของอีริค ฟรอมม์
ผลการศึกษาพบว่า คนเจนเนอเรชั่นวายในสังคมทุนนิยมเผชิญความเหงามิติความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในระดับสูง ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ภายใต้สังคมทุนนิยมเกิดขึ้นมาจากความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และมีค่านิยมปัจเจก มุ่งเน้นการแข่งขัน ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลลดลง ขณะที่ เมื่อพิจารณาถึงมิติตัวแปรต่างๆ ภายใต้ทุนนิยมพบว่า มิติถิ่นกำเนิด และมิติทางด้านรายได้ เป็นมิติที่มีนัยยะต่อความเหงามิติความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากที่สุด โดยระดับรายได้แปรผกผันต่อระดับความเหงา กล่าวคือ ยิ่งระดับรายได้ต่ำ ระดับความเหงายิ่งสูง นอกจากนี้แล้ว ยังพบด้วยว่า ทุนนิยมทำให้เกิดความเหงามิติการดำรงอยู่ หรือความรู้สึกที่ไม่มีบทบาทสำหรับตนเอง หรือความรู้สึกไร้ความหมายในชีวิตอีกด้วย