Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้ มุ่งเน้นศึกษาถึงประสิทธิผลของโครงการประกันภัยข้าวนาปีที่มีต่อการบรรเทาความยากจนของชาวนาไทยและปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากจนของครัวเรือนเกษตรผู้ปลูกข้าวในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ผ่านข้อมูลระดับ Micro Panel Data จากชุดข้อมูล Townsend Thai Data โดยเมื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวปี ด้วยวิธีการ Difference-in-Difference พบว่า ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีอย่างต่อเนื่องมีหนี้สินต่ำกว่าครัวเรือนที่ไม่เข้าร่วมโครงการ หรือเข้าร่วมโครงการแต่ไม่ต่อเนื่อง
และเมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลความยากจนของครัวเรือน ด้วยแบบจำลอง Fixed Effect Regression พบว่า ครัวเรือนเกษตรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการผลิตของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มีหนี้สินสูงกว่าครัวเรือนที่ไม่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการผลิตของธกส. นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนสมาชิกในครัวเรือน การศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน รายได้ภาคเกษตร ค่าใช้จ่ายภาคเกษตร ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ขนาดพื้นที่เพาะปลูก และการถือครองที่ดินของครัวเรือน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความยากจนของชาวนาไทย
การดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของภาคเกษตร และการพัฒนาระบบประกันภัยที่สามารถประเมินความเสียหายที่แม่นยำ โปร่งใส และได้รับความเชื่อมั่นจากผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย จะสามารถสร้างตลาดประกันภัยพืชผลที่ไม่ต้องอาศัยการแทรกแซงจากภาครัฐได้ นอกจากนี้ การให้ความรู้ทางการเงินและสนับสนุนให้สมาชิกในครัวเรือนได้รับการศึกษา เป็นการส่งเสริมทักษะในการบริหารการเงินในครัวเรือน และสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารด้านการผลิต ซึ่งช่วยพัฒนาผลิตภาพและศักยภาพการแข่งขันของภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน ลดความยากจนของครัวเรือน และทำให้แรงงานในภาคเกษตรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น