Abstract:
ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งยังมีแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราการเกิดที่น้อยลง จึงทำให้อัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยทำงานเพิ่มขึ้น จนเป็นภาระแก่บุตรหลานและงบประมาณของประเทศ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ แนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้สามารถเริ่มได้ด้วยตัวของบุคคลเองด้วยการวางแผนก่อนการเกษียณอายุ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุและระยะเวลาของการวางแผนที่มีต่อความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุผ่านคะแนนมาตรฐานสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยศึกษาผ่านแบบจำลอง 2-Stage Least Square (2SLS) ด้วยการใช้ตัวแปรมหภาคเป็น instrumental variable ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจวางแผนเกษียณอายุ ซึ่งผลศึกษาพบว่า แผนเกษียณอายุทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ แผนเกษียณอายุด้านการเงิน สุขภาพกาย สุขภาพจิต และสังคม ผู้สูงอายุที่ทำงานภายหลังอายุ 60 ปีจะส่งผลให้ผู้เกษียณอายุมีความอยู่ดีมีสุขเพิ่มขึ้นได้เมื่อมีการวางแผนทางการเงินและสุขภาพกาย รวมทั้งหากมีการวางแผนเกษียณอายุในช่วงอายุที่เร็วขึ้น ก็จะทำให้ความอยู่ดีมีสุขด้านสุขภาพกายเพิ่มขึ้นอีกด้วย
แม้ว่าการวางแผนเกษียณอายุอาจไม่ทำให้ความอยู่ดีมีสุขด้านสุขภาพจิตดีขึ้น แต่การที่บุคคลได้เริ่มมีการวางแผนย่อมทำให้สามารถตั้งเป้าหมายของชีวิต และเตรียมความพร้อมสำหรับสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ได้ ผ่านการวางแผนเกษียณอายุด้านต่าง ๆ ภาครัฐจึงควรสนับสนุนให้เกิดการเตรียมความพร้อม ไม่เพียงแต่ด้านการเงินแต่ยังคงรวมถึงด้านอื่น ๆ อีกด้วย