Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้วิเคราะห์และนำเสนอประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเวียดนามในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดย นำหลักฐานชั้นต้นของเวียดนาม หลักฐานหลักฐานไทย และหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์สังเคราะห์กิจกรรมระหว่างรัฐในระยะเวลาดังกล่าว โดยที่ผ่านมา การศึกษาประเด็นดังกล่าวนี้มักอิงอยู่บนหลักฐานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นสำคัญแต่ยังไม่มีการนำหลักฐานชั้นต้นของทั้งสองฝ่ายเข้ามาศึกษา โดยเฉพาะหลักฐานเวียดนามที่เข้าถึงได้ยากอันเนื่องมาจากกำแพงภาษาและจำนวนเอกสารที่มีจำกัด ทั้งนี้ ในทางประวัติศาสตร์ ห้วงเวลาระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังถือว่ามีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ รัฐเก่าแก่อย่างอังวะ อยุธยา ล่มสลายลงจากสงครามและการจลาจล ในเวียดนามเกิดสงครามระหว่างอ๋องสองตระกูลใหญ่ในขณะที่จักรพรรดิราชวงศ์เลนั้นกลายเป็นเพียงจักรพรรดิแต่ในนาม การกำเนิดรัฐใหม่โดยราชวงศ์อลองพญา ราชวงศ์กรุงธนบุรี/จักรี ราชวงศ์เหงวียน ในเวลาต่อมา ทำให้เกิดกิจกรรมระหว่างรัฐเหล่านี้มากมายไม่ว่าจะเป็นการค้า การสงคราม การขับเคี่ยวอิทธิพล ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา กิจกรรมเหล่านี้มิได้ถูกเน้นย้ำและนำมาวิเคราะห์อย่างจริงจังในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนถึงการมีอยู่ของกิจกรรมเหล่านั้น โดยเฉพาะการขับเคี่ยวอิทธิพลระหว่างสยามกับเวียดนาม (อ๋องตระกูลเหงวียน) ที่มีมาตั้งแต่ช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการปะทะทางทหารอย่าหนักในสมัยกรุงธนบุรี ก่อนจะพลิกกลับมาเป็นมิตรในช่วงรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ความสัมพันธ์เช่นนี้ เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ มากมาย อีกทั้งความสัมพันธ์สยาม-เวียดนามในยุคนี้ ยังส่งผลกับความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับรัฐทางทิศตะวันออกในระยะต่อมาอย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย