Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการพัฒนาพยาบาลให้เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูงโรงพยาบาลตติยภูมิ โดยใช้เทคนิค EDFR ผู้ให้ข้อมูลคือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร จำนวน 19 คน วิธีการดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 3 รอบ คือ รอบที่ 1 สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาพยาบาลให้เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูง รอบที่ 2 นำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์เนื้อหาแล้วสร้างเป็นแบบสอบถามเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญประมาณค่าความน่าจะเป็นของการพัฒนาพยาบาลให้เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูง และรอบที่ 3 นำข้อมูลที่ได้จากรอบที่ 2 มาคำนวณค่ามัธยฐาน ค่าพิสัยระหว่าง ควอไทล์ และจัดทำแบบสอบถามให้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันความคิดเห็น เพื่อสรุปการพัฒนาพยาบาลให้เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูง โรงพยาบาลตติยภูมิ
ผลการวิจัย พบว่า การพัฒนาพยาบาลให้เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูง โรงพยาบาลตติยภูมิ ประกอบด้วย 3 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านการบริหารองค์กร จำนวน 8 ข้อ ได้แก่ กําหนดโครงสร้าง บทบาทหน้าที่และเส้นทางความก้าวหน้าของพยาบาลวิชาชีพที่มีศักยภาพสูงที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาพยาบาลวิชาชีพให้เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูง เป็นต้น 2) ด้านการบริหารบุคลากร จำนวน 15 ข้อ ได้แก่ จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรรายบุคคลให้สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของพยาบาลวิชาชีพที่ต้องการพัฒนาความเชี่ยวชาญในสาขาที่ปฏิบัติงาน การให้ข้อมูลย้อนกลับแก่พยาบาลวิชาชีพในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น 3) ด้านการพัฒนาบุคลากร จำนวน 5 ข้อ ได้แก่ จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมหรือกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมรรถนะสำหรับพยาบาลวิชาชีพที่มีศักยภาพสูง สร้างวัฒนธรรมการสอนงานการปฏิบัติการพยาบาลในคลินิก โดยการพัฒนาพยาบาลวิชาชีพทุกระดับให้มีทักษะการสอนงาน และการสื่อสารทางบวก เป็นต้น