Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการยอมรับความตายของผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม ได้แก่ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย ความเชื่อทางศาสนาพุทธเกี่ยวกับความตาย ภาระที่ค้างคา การรับรู้ความสามารถของตนเอง และสัมพันธภาพของบุคคลในครอบครัว กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามวัยผู้ใหญ่ที่เข้ารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จำนวน 212 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสะดวกตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวมรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย แบบสอบถามความเชื่อทางศาสนาเกี่ยวกับความตาย แบบสอบถามภาระที่ค้างคา แบบสอบถามการรับรู้ในความสามารถของตนเอง แบบสอบถามสัมพันธภาพของบุคคลในครอบครัว และแบบสอบถามการยอมรับความตาย ซึ่งได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และตรวจสอบความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ .86, .72, .74, .74, .89 และ .70 ตามลำดับ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติเชิงบรรยาย และค่าสัมประสิทธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ คือ
1. ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามมีการยอมรับความตายในระดับสูง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ31.37 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 3.47
2. ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย ภาระที่ค้างคามีความสัมพันธ์ทางลบในระดับปานกลางกับการยอมรับความตายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.61, r= -.39) ตามลำดับ
3. ความเชื่อทางศาสนาพุทธเกี่ยวกับความตายและการรับรู้ความสามารถของตนเองมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลางกับการยอมรับความตายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = .41, r =.38) ตามลำดับ และสัมพันธภาพของบุคคลในครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับต่ำกับการยอมรับความตายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r =.20)