Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการเลิกสูบบุหรี่ระหว่างกลุ่มที่ได้รับคำแนะนำแบบกระชับ และกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ป่วยในแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินที่สูบบุหรี่ซึ่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 60 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 30 คน ทั้ง 2 กลุ่มได้รับการจับคู่ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกันในเรื่องเพศ อายุ และระดับการติดนิโคติน กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ในขณะที่กลุ่มทดลองได้รับคำแนะนำแบบกระชับประมาณ 10-15 นาที และได้รับการติดตามทางโทรศัพท์ 2 ครั้ง ประเมินการเลิกบุหรี่จากการเลิกสูบบุหรี่ได้ติดต่อกันในช่วง 7 วันก่อนระยะเวลาประเมินผลที่ 1 เดือน หลังจากได้รับคำแนะนำแบบกระชับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย สถิติ Z (Z-test) และ Mann-Whitney U test ผลการทดลองพบว่า กลุ่มตัวอย่างในกลุ่มทดลองสามารถเลิกบุหรี่ได้ 6 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ส่วนกลุ่มควบคุมเลิกบุหรี่ได้เพียง 1 คน คิดเป็นร้อยละ 3.3 สัดส่วนการเลิกบุหรี่ในช่วง 7 วันก่อนประเมินในกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับโปรแกรมการให้คำแนะนำแบบกระชับสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.05)