Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดผลสองครั้งก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กสมาธิสั้นก่อนและหลังได้รับการบำบัดด้วยโปรแกรมการเรียนรู้โดยประสบการณ์แบบกลุ่มของบิดามารดา 2) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กสมาธิสั้นระหว่างกลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยโปรแกรมการเรียนรู้โดยประสบการณ์แบบกลุ่มของบิดามารดากับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่างคือเด็กสมาธิสั้น และบิดาหรือมารดาเด็กสมาธิสั้น ที่มารับบริการที่งานพยาบาลผู้ป่วยนอก สถาบันราชานุกุล ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์โดยได้รับการจับคู่ และสุ่มเข้ากลุ่มทดลองจำนวน 20 คน และกลุ่มควบคุมจำนวน 20 คน กลุ่มทดลอง ได้รับการบำบัดด้วยโปรแกรมการเรียนรู้โดยประสบการณ์แบบกลุ่มของบิดามารดา เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กสมาธิสั้นและบิดาหรือมารดา 2) แบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กสมาธิสั้น 3) โปรแกรมการเรียนรู้โดยประสบการณ์แบบกลุ่มของบิดามารดา เครื่องมือทุกชุดผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน เครื่องมือชุดที่ 2 มีค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหา เท่ากับ .93 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือสถิตินอนพาราเมตริก
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กสมาธิสั้น หลังได้รับโปรแกรมการเรียนรู้โดยประสบการณ์แบบกลุ่มของบิดามารดา น้อยกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กสมาธิสั้นของกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการเรียนรู้โดยประสบการณ์แบบกลุ่มของบิดามารดา น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05