Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดสองครั้งก่อนและหลังการทดลองในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์1) เพื่อเปรียบเทียบภาวะกดดันด้านจิตใจของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทก่อนและหลังได้รับโปรแกรมเสริมสร้างทักษะการเผชิญความเครียดและ 2) เพื่อเปรียบเทียบภาวะกดดันด้านจิตใจของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมเสริมสร้างทักษะการเผชิญความเครียดกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ กลุ่มตัวอย่าง คือผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มารับบริการที่แผนกจิตเวชผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์จำนวน 40 คน ได้รับการจับคู่ให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันในเรื่องเพศและระยะเวลาการเจ็บป่วยของผู้ป่วย แล้วถูกสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 คน ผู้ดูแลในกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมเสริมสร้างทักษะการเผชิญความเครียด ส่วนผู้ดูแลในกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) โปรแกรมเสริมสร้างทักษะการเผชิญความเครียด 2) แบบประเมินภาวะกดดันด้านจิตใจของ Kessler 3) แบบวัดการเผชิญความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน เครื่องมือชุดที่ 2 และ 3 มีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .89 และ .80 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
1. ภาวะกดดันด้านจิตใจของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทหลังได้รับโปรแกรมเสริมสร้างทักษะการเผชิญความเครียดต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. ภาวะกดดันด้านจิตใจของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมเสริมสร้างทักษะการเผชิญความเครียดต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05