Abstract:
การวิจัยแบบกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการทบทวนชีวิตคู่ต่อภาระของผู้ดูแลที่เป็นคู่สมรสผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยใช้แนวคิดของ Ingersoll-Dayton et al. (2013) ร่วมกับการให้ความรู้การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมและการดูแลตนเองของผู้ดูแล ศึกษากลุ่มเดียววัดแบบอนุกรมเวลา (One-Group Time Series Design) ทำการวัดซ้ำทั้งหมด 6 ครั้ง โดยทำการวัดก่อนการทดลอง 1 ครั้ง ระหว่างการทดลอง 4 ครั้ง และหลังเสร็จสิ้นการทดลอง 1 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างคือผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมซึ่งมีผู้ดูแลที่เป็นคู่สมรส จำนวน 16 คน โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ดำเนินการโดยให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมโปรแกรมการทบทวนชีวิตคู่ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 90 นาที เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ โปรแกรมการทบทวนชีวิตคู่ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดของ Ingersoll-Dayton et al. (2013) ร่วมกับการให้ความรู้การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมและการดูแลตนเองของผู้ดูแล ได้ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามภาระของผู้ดูแลของ Zarit (1980) แปลโดย อรวรรณ แผนคง (2547) ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และมีค่าความเที่ยงตรงของแบบสอบถาม จากการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคเท่ากับ .90 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ (Repeated Measures ANOVA)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
ภาระของผู้ดูแลที่เป็นคู่สมรสผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ระหว่างได้รับโปรแกรมการทบทวนชีวิตคู่และหลังได้รับโปรแกรมการทบทวนชีวิตคู่ต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการทบทวนชีวิตคู่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยภาระของผู้ดูแลที่เป็นคู่สมรสผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป