Abstract:
การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายประสบการณ์ของชีวิตบุตรชายที่เป็นผู้ดูแลบิดามารดาสูงอายุภาวะพึ่งพิง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบปรากฏการณ์วิทยาการตีความของ Martin Heidegger (1962) ผู้ให้ข้อมูล คือ บุตรชายที่มีประสบการณ์ในการดูแลบิดามารดาสูงอายุภาวะพึ่งพิง และ/หรือมีภาวะสมองเสื่อมโดยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก และบันทึกเทป ข้อมูลอิ่มตัวจากผู้ให้ข้อมูล จำนวน 12 ราย นำข้อมูลที่ได้มาถอดความแบบคำต่อคำ วิเคราะห์ข้อมูลตามวิธีการของ Van Manen (1990)
ผลการวิจัย พบว่า ประสบการณ์ชีวิตของบุตรชายที่เป็นผู้ดูแลบิดามารดาสูงอายุภาวะพึ่งพิง ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก คือ 1) ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการปรับสมดุลการทำงานให้เข้ากับการดูแล เมื่อรับบทบาทการเป็นผู้ดูแลส่งผลให้มีข้อจำกัดในการเข้าสังคมและมีเวลาส่วนตัวลดลง 2) ปรับตัว ปรับใจยอมรับบทบาทการเป็นผู้ดูแล โดยการมองโลกในแง่บวก ขจัดอารมณ์ความรู้สึกด้านลบ ต้องเข้าใจและยอมรับอาการแสดงของโรคในผู้สูงอายุมากขึ้น 3) การดูแลที่ทำได้ทั้งชายหญิง เมื่อบุตรชายผู้ดูแลสามารถปรับตัวได้ การดูแลง่าย ไม่ยาก และผู้ชายมีความแข็งแรงในการอุ้มพยุงแม้ไม่ถนัดงานละเอียดแต่สามารถดูแลได้ เพราะถ้าใส่ใจดูแลได้ทั้งชายหญิง 4) เรียนรู้วิธีการดูแล เนื่องจากช่วงแรกไม่มั่นใจในการดูแล จึงต้องวางแผนและปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลให้เหมาะสม และการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพื่อให้ภาระการดูแลลดลง และ 5) ความสุข ความทุกข์จากการเป็นผู้ดูแล ความสุข คือ การมีความสุข ภาคภูมิใจที่ได้ดูแล การได้ตอบแทนบุญคุณบิดามารดา และได้รับคำชื่นชมจากคนรอบข้าง ความทุกข์ คือ เหนื่อยและเครียดจากการดูแล และกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
จากผลการวิจัยนี้ นำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานให้บุคลากรทางสุขภาพเข้าใจถึงประสบการณ์ของบุตรชายที่ให้การดูแลปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ และสามารถนำมาเป็นแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุนการดูแลให้แก่บุตรชายที่ในอนาคตอาจมีแนวโน้มในการรับบทบาทเป็นผู้ดูแลบิดามารดาสูงอายุภาวะพึ่งพิงเพิ่มขึ้น