Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้มีวิธีการดำเนินการวิจัยจุดยืนทางกระบวนทัศน์แบบตีความ (Interpretivism paradigm) มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม ศึกษา และถอดบทเรียนของโครงการนวัตกรรมในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความปลอดภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลุ่มตัวอย่างที่มีการบริหารจัดการที่ดี (best practice) และเพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินการบริหารจัดการในโครงการนวัตกรรมด้านการป้องกันอาชญากรรมและความปลอดภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง โดยเปรียบเทียบปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อนำไปสู่การค้นหารูปแบบในการบริหารจัดการด้านป้องกันอาชญากรรมและความปลอดภัยที่เหมาะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ในลักษณะของการศึกษาเฉพาะกรณี (case study) ซึ่งมีหน่วยที่ทำการศึกษาคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 4 องค์กร ได้แก่ เทศบาลนครรังสิต เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย และองค์การบริหารส่วนตำบลเทพารักษ์ ซึ่งคัดเลือกจากองค์กรที่มีผลการดำเนินงานจากโครงการนวัตกรรมด้านการป้องกันปัญหาอาชญากรรม จนกระทั่งประสบผลสำเร็จได้รับการประเมินเพื่อเข้ารับรางวัลต่าง ๆ ในระดับชาติ จากนั้นเลือกใช้การวิจัยภาคสนาม (field research) ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม (focus group) ผู้เชี่ยวชาญ ผลการศึกษาพบว่า
1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญต่อประเด็นในการที่จะสร้างความสงบเรียบร้อย การป้องกันอาชญากรรมและความปลอดภัยในท้องถิ่นโดยมีการกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและได้แปลงเป็นโครงการนวัตกรรม เนื่องจากการมีบริบททางสังคมที่มีพลวัตย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเกิดอาชญากรรม
2) ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จพบว่ามี 6 ปัจจัย ได้แก่ 1) ผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ 2) สมรรถนะของพนักงานเจ้าหน้าที่ในองค์กร 3) ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ 4) ศักยภาพขององค์กร 5) ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภายนอก และ 6) การมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับปัญหาและอุปสรรคพบว่าเกิดจาก 1) ความยุ่งยากซับซ้อนในการประสานงานกับหน่วยงานราชการภายนอก 2) ความจำเป็นในการต้องพึ่งพิงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 3) ปัญหาความกังวลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อเรื่องระเบียบข้อกฎหมาย
3) รูปแบบนวัตกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันอาชญากรรมในเขตภาคกลาง ดังนี้ 1) รูปแบบที่เหมาะสมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตภาคกลางที่มีบริบทความเป็นเมืองคือรูปแบบในการป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อมที่เน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือปฏิบัติการ 2) รูปแบบที่เหมาะสมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตภาคกลางที่มีบริบทความเป็นชนบท คือรูปแบบในการป้องกันอาชญากรรมโดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในลักษณะเครือข่ายภาคประชาสังคม และ 3) รูปแบบที่เหมาะสมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตภาคกลางที่มีบริบทความเป็นกึ่งเมืองกึ่งชนบท คือรูปแบบในการป้องกันอาชญากรรมโดยเน้นการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะกระทำความผิดในลักษณะเครือข่ายการปรึกษาหารือ