Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าขยะทางการเกษตรโดยการพัฒนาเส้นใยจากต้นดาหลา และศึกษากระบวนการทดลองสกัดสีจากดอกดาหลา และการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่เหมาะสมกับสิ่งทอเส้นใยดาหลา โดยการประเมินผลความเหมาะสมของเส้นใย รูปแบบผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผู้เชียวชาญทางด้านสิ่งทอ ทางด้านการออกแบบ นักออกแบบ กลุ่มประกอบ และกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้เครื่องมือแบบสอบถาม และการสัมภาษณ์
ผลการศึกษาพบว่า การพัฒนาเส้นใยดาหลาเป็นการใช้ส่วนลำต้นที่เหลือทิ้งจากการตัดดอกดาหลาไปขาย ส่วนของลำต้นมีใยที่เหมาะสม โดยจะนำเข้าเครื่องนวดเพื่อให้มีความยืดหยุ่นและมีความนุ่ม หลังจากนั้นนำไปเข้าเครื่องตีใย และนำใยที่ได้ไปเข้าเครื่องตีเกลียวเส้นด้ายในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งเส้นด้ายที่ตีเกลียวจะมีส่วนผสมระหว่างใยดาหลาและใยฝ้าย อัตราส่วน 15:85 เพราะใยฝ้ายเป็นตัวผสานเกลียว ซึ่งจะทำให้เส้นด้ายเหมาะแก่การนำไปทอผ้าเพื่อทำผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์เช่น เสื้อผ้า กระเป๋าและรองเท้าเป็นต้น ในส่วนกลีบดอกมีการสกัดสีย้อมเพื่อย้อมเส้นด้ายดาหลาและเส้นไหมไทย โดยนำกลีบดอกมาปั่นกับน้ำ ในอัตราส่วนกลีบดอก 1 กิโลกรัม:น้ำ 3 ลิตร กรองด้วยผ้าขาว ได้น้ำสีแล้วนำไปต้มเพื่อย้อมร้อน นำเส้นด้ายดาหลาและเส้นไหม ย้อมเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ขณะน้ำเดือดใส่สารส้ม 200 กรัม เพื่อให้ติดสีและมีสีที่สด เสร็จแล้วนำเส้นด้ายมาล้างน้ำสะอาด และแช่ในน้ำผสมสารส้ม อัตราส่วน 3 ลิตร:200 กรัม เพื่อคงสีที่ย้อมไว้จากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติและวัตถุในการแปรรูปเส้นใยผู้วิจัยต้องการพัฒนาเส้นใยจากต้นดาหลาซึ่งถือเป็นส่วนเหลือทิ้งจากการตัดดอก พร้อมทั้งหาแนวทางการสกัดสีย้อมจากส่วนดอกดาหลา เพื่อนำไปย้อมสีเส้นด้ายทอต่าง ๆ เช่น ไหม ฝ้าย เส้นด้ายดาหลา เป็นต้น ซึ่งถือส่วนหนึ่งของแนวคิดการออกแบบและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน“Sustainable Design”และแนวทางการใช้ทุกส่วนอย่างคุ้มค่า จนขยะเหลือศูนย์ “Zero Waste” อันได้แก่กระดาษจากเศษดอกหลังจากสกัดสี หรือนำมาแปรรูปเป็นอาหาร อาทิเช่น กากดอกดาหลากวน น้ำพริกแห้งดาหลา ซึ่งส่วนสำคัญในการวิจัยครั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์สิ่งทอและผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋าและรองเท้า เป็นต้น