Abstract:
งานวิจัยเรื่องกรรมวิธีการสร้างระนาดเอกของครูชลอ ใจชื้น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติการสร้างระนาดเอกของครูชลอ ใจชื้น ศึกษากรรมวิธีการสร้างระนาดเอกของครูชลอ ใจชื้น ศึกษาลักษณะเฉพาะที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงของระนาดเอก ในปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้ช่างสร้างเครื่องดนตรีไทยผลิตเครื่องดนตรีไทยได้รวดเร็วขึ้นแต่ขาดความประณีต ครูชลอ ใจชื้น สร้างเครื่องดนตรีไทยที่ยังยึดหลักการสร้างเครื่องดนตรีไทยแบบโบราณโดยทำตามหลักของช่างเจ๊กฮุยและช่างเจ๊กฝนซึ่งเป็นช่างสร้างเครื่องดนตรีไทยที่ได้รับความนิยมในสมัยโบราณ
ผลการวิจัยพบว่า กรรมวิธีการสร้างระนาดเอกของครูชลอ ใจชื้น ใช้อุปกรณ์การสร้างแบบโบราณและการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ในการสร้างผืนระนาดเอก ได้แก่ การใช้เศษกระจกแต่งผืนระนาดเอก วิธีการทำเดือยเพื่อประกอบไม้ของรางระนาดเอกเข้าด้วยกัน ผืนระนาดเอก 21 ลูกโดยใช้การแกะสลักเท้าระนาดเอกซึ่งไม่พบในสมัยปัจจุบัน และกระสวนที่ครูได้พัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ กรรมวิธีทั้งหมดที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงของระนาดเอกมี 6 ประการ คือ 1. ลักษณะการเลือกไม้ทำผืนระนาดเอก มีวิธีการเลือกไม้ที่ไม่มีตำหนิและเป็นไม้ต้นเดียวกันทั้งผืน 2. การผสมตะกั่วมีสูตรเฉพาะที่ทำขึ้นเอง 3. การบากท้องผืนระนาดเอกใช้กลวิธีเฉพาะตัวมีขั้นตอนที่ประณีตซึ่งส่งผลต่อเสียงสูงเสียงต่ำของระนาดเอก 4. การเจาะรูร้อยเชือก ถ้าเจาะกว้างไปจะมีผลต่อคุณภาพเสียงทำให้เสียงระนาดเอกสูงขึ้นแต่ถ้าเจาะแคบไปจะทำให้เชือกไม่สามารถร้อยผ่านได้ 5. กระสวนผืนระนาดเอกของครูชลอ ใจชื้น เป็นกระสวนที่ครูได้ปรับและพัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของครูชลอ ใจชื้น 6. รางระนาดเอก มีสัดส่วนที่เฉพาะ ทำให้คุณภาพเสียงของระนาดเอกออกมาเสียงดังกังวาน สมบูรณ์ และสวยงาม