Abstract:
จากการศึกษาครั้งนี้ สามารถแยกราเอนโดไฟต์จากกล้วยไม้น้ำ Epipactis flava Seidenf. ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ได้ทั้งหมด 50 ไอโซเลต เป็นราที่แยกได้จากราก 35 ไอโซเลต และจากโปรโตคอร์ม 15 ไอโซเลต ราที่แยกได้ทั้งหมดถูกนำมาตรวจสอบการกระตุ้นการงอกของเมล็ดกล้วยไม้น้ำ พบว่ามีรา 7 ไอโซเลต ได้แก่ MSR07 MSR24 MSR34 MSP01 MSP02 MSP04 และ MSP13 ที่สามารถกระตุ้นการงอกของเมล็ดกล้วยไม้น้ำบนอาหารเลี้ยงเชื้อ Oat Meal Agar (OMA) ได้ภายใน 30 วัน หลังหว่านเมล็ด การกระตุ้นการงอกของเมล็ดและการพัฒนาของโปรโตคอร์มด้วยราทั้ง 7 ไอโซเลตถูกทดสอบบนอาหารเลี้ยงเชื้อ OMA เป็นเวลา 4 เดือน หลังหว่านเมล็ด พบว่ามีรา 6 ไอโซเลตที่สามารถกระตุ้นการงอกของเมล็ดและส่งเสริมการพัฒนาของโปรโตคอร์มจนถึงระยะที่ 2 ยกเว้นราไอโซเลต MSP04 ที่ไม่ส่งเสริมการพัฒนาของโปรโตคอร์ม ค่าดัชนีของอัตราการงอก (Germination rate index, GRI) ของราทั้ง 7 ไอโซเลตมีค่าอยู่ระหว่าง 56.62-148.14 โดยไอโซเลต MSP13 ให้ค่า GRI สูงที่สุด (148.14) ซึ่งไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับค่า GRI ของราไอโซเลต MSP01 (139.41) ค่าดัชนีของอัตราการพัฒนาของโปรโตคอร์ม (developmental rate index, DRI) ของราทั้ง 7 ไอโซเลตมีค่าอยู่ระหว่าง 0-33.20 จากการศึกษาพบว่า ราไอโซเลต MSP01 ให้ค่า DRI สูงที่สุด (33.20) ขณะที่เมล็ดที่ไม่ได้เพาะเลี้ยงร่วมกับรา (ชุดควบคุม) มีค่า GRI และ DRI เท่ากับ 6.76 และ 0 ตามลำดับ จากลักษณะทางสัณฐานวิทยาและการวิเคราะห์ทางชีววิทยาโมเลกุลที่ตำแหน่ง ITS ของ nuclear rDNA พบว่าราทั้ง 7 ไอโซเลตถูกระบุเป็น Fusarium oxysporum (MSR34 และ MSP01) F. solani (MSR07 และ MSR24) Plectosphaerella cucumerina (MSP02 และ MSP04) และ Curvularia lunata (MSP13) ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า กล้วยไม้น้ำมีความสัมพันธ์กับราไมคอร์ไรซามากกว่า 1 ชนิดภายในถิ่นอาศัยเดียวกัน และมีความเฉพาะเจาะจงที่ค่อนข้างกว้างเมื่อเพาะเลี้ยงภายในหลอดทดลอง ข้อมูลที่ได้ครั้งนี้จะเป็นความรู้พื้นฐานสำคัญที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนกล้วยไม้น้ำซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในประเทศไทย