Abstract:
การสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่ เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการรักษาและฟื้นฟูสภาพการทำงานของอวัยวะและร่างกายจากโรคที่ทำลายกระดูก เช่น โรคปริทันต์และภาวะโรคกระดูกพรุน โดยทั่วไปขั้นตอนการสร้างกระดูก ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนที่ต่อเนื่องกัน คือ การแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ การพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์สร้างกระดูก และการตกตะกอนสารอนินทรีย์ วัตถุประสงค์ของการทดลองครั้งนี้เพื่อศึกษาผลของสารสกัดส่วนวุ้นของว่านหางจระเข้ ที่มีต่อการเพิ่มจำนวนเซลล์ การทำงานของเอนไซม์และระดับอาร์เอ็นเอนำรหัสของเอนไซม์อัลคาลินฟอสฟาเตส รวมทั้งการตกตะกอนของสารอนินทรีย์ของเซลล์สร้างกระดูกที่แยกจากไขกระดูก ผลการทดลองพบว่า สารสกัดส่วนวุ้นของว่านหางจระเข้ ที่ระดับความเข้มข้น 10, 20 และ 50 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร มีผลกระตุ้นการเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สารสกัดส่วนวุ้นของว่านหางจระเข้ที่ระดับความเข้มข้น 50 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร มีผลลดระดับอาร์เอ็นเอนำรหัสและโปรตีนของเอนไซม์อัลคาลินฟอสฟาเตส อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อทดสอบเป็นเวลา 3 และ 7 วัน ตามลำดับ ในขณะที่สารสกัดส่วนวุ้นของว่านหางจระเข้ที่ระดับความเข้มข้น 1, 5, และ 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ไม่มีผลต่อระดับอาร์เอ็นเอนำรหัสและการทำงานของเอนไซม์อัลคาลินฟอสฟาเตสอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อทดสอบเป็นเวลา 3 และ 7 วัน สารสกัดส่วนวุ้นของว่านหางจระเข้ที่ระดับความเข้มข้น 1, 5, 10 และ 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อการตกตะกอนสารอนินทรีย์ เมื่อทดสอบเป็นเวลา 21 วัน ผลการทดลองได้เสนอแนะว่า สารสกัดส่วนวุ้นของว่านหางจระเข้ที่ระดับความเข้มข้น 10 และ 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร มีผลกระตุ้นการเพิ่มจำนวนเซลล์ แต่ไม่มีผลต่อระดับเอนไซม์อัลคาลินฟอสฟาเตสและการตกตะกอนสารอนินทรีย์ในเซลล์สร้างกระดูก