Abstract:
การกำหนดตัวแบบโครงสร้งต้นทุนสำหรับสินค้าเกษตรกรรมที่มีการส่งออก จัดทำขึ้นเพื่อให้กิจการที่ประกอบธุรกิจทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรกรรมมีฐานข้อมูลอันเกี่ยวกับต้นทุนสินค้า เพื่อช่วยในการพิจารณาตกลงราคา ซึ่งจะช่วยให้ทราบต้นทุนโดยประมาณและคาคคะเนได้ว่า ณ ระดับราคาที่มีการประกาศซื้อขายล่วงหน้านั้นธุรกิจมีความเสี่ยงในผลขาดทุน หรือมีโอกาสได้รับกำไรมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางต้นทุนสินค้าเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรเพื่อให้ต้นทุนนี้มีส่วนช่วยในการวางแผนการผลิตและควบคุมต้นทุน เหตุผลที่คณะผู้วิจัยให้ความสนใจในเรื่องนี้ก็เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้อนุญาตให้มีการจดทะเบียนสำหรับกิจการที่ดำเนินธุรกิจทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรกรรมกับตลาดต่างประเทศ การตัดสินใจผิดพลาดเพราะขาดข้อมูลอันเป็นพื้นฐานสำคัญจะเป็นผลเสียต่อธุรกิจ และเศรษฐกิจเป็นส่วนรวม และในธุรกิจประเภทนี้จะมีนักเก็งกำไรเข้าร่วมด้วย จากการสุ่มตัวอย่างสินค้าเกษตรกรรมจำนวน 20 รายการจากสินค้าเกษตรกรรที่มีการส่งออก 20 อันดับแรก เพื่อมาศึกษาโครงสร้างต้นทุน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ 1. โครงสร้างต้นทุนสำหรับสินค้าเกษตรกรรมประเภทกสิกรรมมีต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนผันแปรซึ่งคิดเป็นร้อยละของต้นทุนรวมเฉลี่ยต่อไร่แล้วมีค่าอยู่ระหว่าง 53.77%-96.07% โดยมีค่าแรงเป็นต้นทุนที่มีค่าสูงสุดในส่วนของต้นทุนผันแปรที่เกิดขึ้น และค่าแรงในการปลูกจะสูงกว่าค่าแรงในการดูแลรักษาเก็บเกี่ยว สำหรับค่าวัสดุเป็นต้นทุนผันแปรที่มีค่าสูง รองลงมา และค่าใช้จ่ายสูงสุดในหมวดค่าวัสดุ ได้แก่ ค่าปุ๋ย 2. โครงสร้างต้นทุนสำหรับสินค้าเกษตรกรรมประเภทประเภทปศุสัตว์มีต้นทุนผันแปรซึ่งคิดเป็นร้อยละของต้นทุนรวมเฉลี่ยต่อตัวเกินกว่า 90% ขึ้นไป โดยมีค่าวัสดุเป็นรายการที่มีค่าสูงสุด ค่าวัสดุที่สำคัญ ได้แก่ ค่าพันธุ์ ค่าอาหาร และอาหารเสริม 3. โครงสร้างต้นทุนสำหรับสินค้าเกษตรกรรมประเภทประมงมีต้นทุนผันแปรซึ่งคิดเป็นร้อยละของต้นทุนรวมเฉลี่ยต่อกิโลกรัมอยู่ระหว่าง 71.24% - 97.23% โดยมีค่าวัสดุเป็นส่วนสำคัญของต้นทุนผันแปรซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 30.66%-82.48% ของต้นทุนรวมเฉลี่ยต่อกิโลกรัม สำหรับต้นทุนคงที่จะมีช่วงของต้นทุนที่เกิดอยู่ระหว่างกลางของสินค้าเกษตรกรรมประเภทกสิกรรมและประเภทปศุสัตว์ นอกจากนี้คณะผู้วิจัยได้เสนอแนวทางในการประยุกต์โครงสร้างต้นทุนสำหรับสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งทำได้ 2 แบบ คือ 1. กรณีที่ทราบข้อมูลรายละเอียดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย (ไร่ ตัว หรือกิโลกรัม แล้วแต่กรณี) จะสามารถคำนวณต้นทุนคิดเป็นร้อยละของรายได้ต่อหน่วยได้ ซึ่งจะทำให้ทราบว่า ณ ระดับราคาขายที่ตลาดกำหนดนั้นเกษตรกรหรือผู้ผลิตจะมีอัตรากำไรต่อหน่วยเท่าใด จะมีรายละเอียดต้นทุนต่ำกว่ารายได้ในอัตราใดบ้าง หากผู้ใช้สามารถจะควบคุมต้นทุนแต่ละชนิดในโครงสร้างต้นทุนได้ก็จะทำให้กำไรสูงขึ้น 2. ต้นทุนที่เกษตรกรไม่ทราบข้อมูลต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย เกษตรกรสามารถใช้โครงสร้างต้นทุนที่ได้จากการวิจัยประกอบกับราคาขายที่กำหนดโดยตลาด คำนวณหาต้นทุนสูงสุดโดยประมาณเฉลี่ยต่อหน่วยที่จะไม่ขาดทุนได้ นั่นคือคำนวณหาโดยกำหนดให้ต้นทุนรวมเฉลี่ยต่อหน่วยเท่ากับราคาขายที่กำหนดพอดี จากการที่เกษตรการสามารถประหยัดต้นทุนลงมาจากต้นทุนที่สูงสุดในส่วนใดได้นั้นคือผลกำไรที่คาดว่าจะได้รับ