Abstract:
จากการตรวจตัวอย่างอุจจาระสุกรของเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงแบบหลังบ้านในชนบท (อุจจาระสุกรชนบท) จำนวน 114 ตัวอย่าง ตัวอย่างอุจจาระสุกรฟาร์มที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม (อุจจาระสุกรฟาร์ม) จำนวน 772 ตัวอย่าง ตัวอย่างเนื้อสุกรจากซุปเปอร์มาร์เก็ต (เนื้อสุกรธรรมดา) จำนวน 154 ตัวอย่าง และ ตัวอย่างเนื้อสุกรที่ได้มาจากการเลี้ยงในโรงเรือนปลอดเชื้อและจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต (เนื้อสุกรอนามัย) จำนวน 39 ตัวอย่าง พบเชื้อซาลโมเนลล่า 6.1, 3.1, 77.9 และ 82.1% ตามลำดับ แสดงว่าน่าจะมีการปนเปื้อนเชื้อซาลโมเนลล่าสูงมากบนเนื้อสุกรในขั้นตอนการฆ่า การขนส่ง และ/ หรือตัดแต่งเนื้อ ดังนั้นจึงควรมีการปรับปรุงสุขศาสตร์ในขั้นตอนจากโรงงานฆ่าสัตว์ถึงการจำหน่ายในตลาดและซุปเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้ซีโรวาร์ที่พบบ่อยได้แก่ Salmonella Anatum, S. Rissen, S. Panama, S. Derby, S. Agona, S. Typhimurium, S. Worthington, S. Schwarzengrund, S. Hadar, S. Stanley และ S. Albany โดยอัตราการดื้อต่อยา Ampicillin, Chloramphenicol, Kanamycin, Nitrofurantoin, Tetracycline, Nalidixic acid, Ciprofloxacin, Furazolidone, Sulfamethoxazole และ Sulfamethoxazole + Trimethoprim ของเชื้อซาลโมเนลล่าที่แยกได้จากตัวอย่างอุจจาระสุกรชนบทเท่ากับ 0, 14.3, 14.3, 0, 28.6, 14.3, 28.6, 0 และ 0% ตามลำดับ แต่เชื้อที่แยกได้จากอุจจาระสุกรฟาร์มมีอัตราการดื้อยาที่ค่อนข้างสูงคือ 77, 16.7, 25, 4.2, 95.8, 45.8, 20.8, 4.2, 70.8 และ 6.7% ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับเชื้อที่แยกได้จากเนื้อสุกรธรรมดาเท่ากับ 55.8, 16.7, 3.3, 4.2, 72.5, 33.3, 2.5, 0, 55.8 และ 51.7% ตามลำดับ และเชื้อที่แยกได้จากเนื้อสุกรอนามัยเท่ากับ 59.4, 34.4, 15.6, 0, 81.3, 37.5, 0, 0, 62.5 และ 43.8% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อที่แยกได้จากอุจจาระสุกรฟาร์มและบนเนื้อสุกรธรรมดาและเนื้อสุกรอนามัยมีรูปแบบการดื้อต่อยา 4 ชนิดขึ้นไปเท่ากับ 70.8, 56.3 และ 46.7% ตามลำดับ สูงกว่าเชื้อที่แยกได้จากอุจจาระสุกรชนบทซึ่งดื้อต่อยา 4 ชนิดขึ้นไปเพียง 14.3% แสดงว่าการใช้ยาต้านจุลชีพในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรมีผลทำให้เกิดอัตราการดื้อต่อยาสูงขึ้น ดังนั้นจึงควรมีการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรอบคอบและเหมาะสมเพื่อป้องกันหรือชะลอปัญหาการดื้อต่อยาต้านจุลชีพของแบคทีเรีย และทำให้สามารถใช้ยาต้านจุลชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิผลได้ยาวนานออกไป