Abstract:
ไลเคนพลานัสในช่องปากเป็นโรคอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของภูมิคุ้มกันชนิดที เซลล์เป็นสื่อ เคยมีรายงานว่าทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟา มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดรอยโรคนี้ จุดประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อที่จะหาความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงออกของ ทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟาในรอยโรคไลเคนพลานัสในช่องปากก่อนและหลังการรักษาด้วยยาฟลูโอซิโนโลน อะเซทโทไนด์ชนิดขี้ผึ้ง ความเข้มข้น 0.1% ผู้ป่วยไลเคนพลานัสในช่องปากจำนวน 18 ราย ได้รับการตัดชิ้นเนื้อก่อนและหลังการรักษาด้วยยาฟลูโอซิโนโลน อะเซทโทไนด์ชนิดขี้ผึ้งเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ร่วมกับศึกษาเนื้อเยื่อปกติจำนวน 20 ราย ด้วยวิธีการเดียวกันโดยส่งตรวจด้วยวิธีการทางพยาธิวิทยาและอิมมูโนฮิสโตเคมีที่ย้อมด้วยแอนติบอดีต่อ ทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟา ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วย 16 ใน 18 ราย (88.89 เปอร์เซ็นต์) แสดงปฏิกิริยาที่ให้ผลบวกต่อทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟา ส่วนใหญ่พบในโมโนนิวเคลียร์เซลล์ มี 10 ราย (55.56%) ที่พบการแสดงออกของ ทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์แอลฟา ในเคอราติโนซัยต์ จำนวนโมโนนิวเคลียร์เซลล์ที่ให้ผลบวกต่อทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟาก่อนการรักษาด้วยยาฟลูโอซิโนโลน อะเซทโทไนด์ชนิดขี้ผึ้ง ความเข้มข้น 0.1% สูงกว่าภายหลังการรักษาที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.000) และในเนื้อเยื่อปกติ (p=0.000) ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนโมโนนิวเคลียร์เซลล์ ภายหลังการรักษาด้วยยาฟลูโอซิโนโลน อะเซทโทไนด์ชนิดขี้ผึ้ง ความเข้มข้น 0.1% ต่ำกว่าก่อนรักษาที่ระดับนัยสำคัญ (p=0.000) แสดงว่าทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟาอาจมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดพยาธิสภาพในรอยโรคไลเคนพลานัสในช่องปากในผู้ป่วยไทยและยาฟลูโอซิโนโลน อะเซทโทไนด์ชนิดขี้ผึ้งความเข้มข้น 0.1% มีผลทำให้มีการแสดงออกของทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟาลดลง