Abstract:
ทำการสังเคราะห์สารใหม่สองชนิด คือ อนุพันธ์ของเอโซเบนซีนคราวน์อีเทอร์คาลิก[4]ซารีน, 10 และ 11 โดยมีวิธีที่แตกต่างกันได้ 2 วิธี วิธีแรกเตรียมได้จากการนำอีทอกซีไนโตรเบนซีน 2 กลุ่มมาเชื่อมต่อกับวงของคาลิก[4]ซารีนในตำแหน่งที่ 1 และ 3 แล้วนำผลิตภัณฑ์ที่ได้มาทำปฏิกิริยารีดักชันโดยใช้โลหะสังกะสีเป็นตัวรีดิวส์ในสารละลายอัลคาไลน์ ได้ผลิตภัณฑ์ 10 และ 11 ปริมาณ 8% และ 12% ตามลำดับ ในวิธีที่ 2 ได้ทำการเตรียมเอโซเบนซีนที่ประกอบด้วยสายของไกลโคลิก 2 สายขึ้นก่อนแล้วนำไปต่อเข้ากับวงของคาลิก[4]ซารีน เปอร์เซนต์ผลิตภัณฑ์ที่ได้คือ 5% และ 8% สำหรับลิแกนด์ 10 และ 11 ตามลำดับ การสังเคราะห์ด้วยวิธีนี้ให้ปริมาณผลผลิตต่ำกว่าในกรณีแรก ผลึกของสาร 10 ที่เหมาะสมกับการวิเคราะห์ด้วยวิธีเอกซ์เรย์คริสตัลโลกราฟฟีได้มาจากการตกผลึกในเมทานอล ผลที่ได้จากทั้งเอกซเรย์และโปรตอนเอ็นเอ็มอาร์ชี้ให้เห็นว่า สเตอริโอไอโซเมอร์ของส่วนเอโซเบนซีนของสาร 10 อยู่ในรูปทรานส์และส่วนของคาลิก[4]ซารีนยังคงอยู่ในรูปโคนคอนฟอร์เมชัน โปรตอนเอ็นเอ็มอาร์สเปกโตรสโกปีของสาร 10 แสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไอโซเมอร์จากทรานส์เป็นซิสเมื่อฉายแสดงยูวีหรือวางทิ้งไว้ภายใต้แสงไฟจากห้องปฏิบัติการโดยมีอัตราส่วนของซิสต่อทรานส์เป็น 33:67 ตามลำดับ สาร 6 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสาร 11 แสดงพฤติกรรมฟลักซิโอนอลและพบว่ามีคอนฟอร์เมชันของวงคาลิก[4]ซารีนแบบผสมระหว่างโคนและพาร์เชียลโคนโดยมีอัตราส่วนเป็น 47:53 ที่ -30 องศาเซลเซียส โปรตอนเอ็นเอ็มอาร์ของสาร 11 แสดงให้เห็นว่า 11 นั้น เริ่มต้นอยู่ในรูปของซิสไอโซเมอร์และมีคอนฟอร์เมชันของคาลิก[4]ซารีนเป็นโคน จากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงคอนฟอร์เมชัน โดยการหมุนของวงเฟนิลบนหน่วยคาลิก[4]ซารีนเมื่อกระทบแสง การศึกษาการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนของสาร 10 กับเกลือพิเครทของโซเดียมและโพแทสเซียมไอออนโดยวิธีโปรตอนเอ็นเอ็มอาร์สเปกโตรสโกปีพบว่าโซเดียมไอออนชอบจับกับ 10 ในรูปซิสไอโซเมอร์ ในขณะที่โปแตสเซียมไอออนชอบจับกับรูปทรานส์ไอโซเมอร์ ส่วนสาร 11 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไอโซเมอร์ของหน่วยเอโซเบนซีนจากซิสไปทรานส์เป็นบางส่วนเมื่อเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับโพแทสเซียมไอออน