Abstract:
การศึกษาวิจัยประเด็นพฤติกรรมที่เหมาะสมของพระสงฆ์และรูปแบบในการใช้ประโยชน์อินเทอร์เน็ตมีวัตถุประสงค์สองประการคือ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมต่อกรอบพระธรรมวินัยและความเป็นสมณเพศของพระสงฆ์ และ 2) เพื่อศึกษารูปแบบการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพื่อกิจการพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ที่สอดคล้องกับการแสดงบทบาทหน้าที่ของพุทธสาวก และบทบาทหน้าที่ตามที่สังคมไทยในปัจจุบันคาดหวัง เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพที่ประยุกต์ระเบียบวิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาบนอินเทอร์เน็ต (Netnography) เพื่อใช้เก็บรวบรวมข้อมูล โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมการใช้งานจริงของพระสงฆ์กลุ่มเป้าหมายบนสังคมออนไลน์ (Online social network) งานศึกษาวิจัยนี้อาศัยการวิเคราะห์เฟสบุ๊กของพระสงฆ์ 8 บัญชีซึ่งสะท้อนข้อเท็จจริงในระดับปัจเจกและเว็บไซต์วัด 16 เว็บไซต์ซึ่งสะท้อนข้อเท็จจริงในระดับสถาบัน นอกจากนี้ได้ให้ความสำคัญกับการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant observation) บนสนามวิจัยออนไลน์ต่อพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายและรูปแบบในการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา รวมทั้งการสัมภาษณ์ทั้งกึ่งโครงสร้าง (Semi structured interview) และไม่มีโครงสร้าง (Structured interview) ผลการศึกษาวิจัยแยกออกเป็น 2 ส่วนตามวัตถุประสงค์คือ ส่วนที่ 1 พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมต่อกรอบพระวินัยและความเป็นสมณเพศของพระสงฆ์ ผลการวิจัยพบว่าพฤติกรรมที่เหมาะสมของพระสงฆ์ในการใช้อินเทอร์เน็ตมีลักษณะคือ 1) ต้องไม่เป็นการใช้งานที่นำไปสู่ความเสื่อมจริยธรรมทางเพศ 2) ไม่กล่าวเท็จ หยาบคาย เสียดสี โอ้อวดและเรียกร้องเพื่อประโยชน์ส่วนตนจนนำความเดือนร้อนมาสู่ผู้อื่น 3) ต้องไม่นำความสั่นคลอนแตกแยกมาสู่สังคม 4) ต้องไม่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์ 5) ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสถานที่ในการปฏิสัมพันธ์ 6) ต้องไม่ตำหนิติเตียนเนื้อความในพระไตรปิฎก 7) ต้องคำนึงและพิจารณาตัวชี้วัดอื่นๆ ประกอบเมื่อต้องแสดงธรรมบนอินเทอร์เน็ต 8) ต้องไม่คาบเกี่ยวอยู่ในช่วงกิจวัตรประจำวันของสงฆ์ 9) ต้องใช้งานด้วยเจตนาบริสุทธิ์สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่ชอบด้วยบทบาทหน้าที่ 10) ต้องใช้งานเพื่อประโยชน์ทางการสื่อสารและการศึกษาเป็นหลัก และ 11) ต้องใช้งานสอดคล้องกับสถานภาพและบทบาทหน้าที่ที่พึงแสดง ณ เวลานั้น จากการวิเคราะห์พฤติกรรมและลักษณะการใช้งานอินเทอร์เน็ตของพระสงฆ์พบว่าประเด็นการใช้ภาษาเฉพาะบนอินเทอร์เน็ต กาลเทศะและการใช้งานที่ไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งน่ากังวลใจอย่างมาก สำหรับส่วนที่ 2 รูปแบบการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพื่อกิจการพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ที่สอดคล้องกับการแสดงบทบาทหน้าที่ของพุทธสาวก และบทบาทหน้าที่ตามที่สังคมไทยในปัจจุบันคาดหวัง พบว่ารูปแบบการใช้ประโยชน์ด้านการสื่อสารและการศึกษาเท่านั้นที่สร้างประโยชน์ให้แก่กิจการพระพุทธศาสนาได้และยังสอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมต่อการใช้อินเทอร์เน็ตในหมู่พระสงฆ์ด้วย นอกจากนี้การใช้งานด้วยความสำรวมทั้งทางกาย วาจาและใจคือสิ่งที่สังคมต้องการเห็นมากที่สุด อย่างไรก็ตามความสำรวมดังกล่าวก็เกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบพระวินัยและตระหนักรู้ถึงความคาดหวังทางสังคมอยู่ตลอดเวลา