Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปรหลัก 3 ตัว ได้แก่ อารมณ์ ความเกี่ยวข้องส่วนบุคคล และคุณภาพของข้อโต้แย้งต่อการตอบสนองต่อสารโน้มน้าวใจ กลุ่มตัวอย่างประกอบไปด้วยนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี จำนวน 280 คน ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปในเงื่อนไขการทดลอง จำนวน 8 เงื่อนไข แบ่งเป็นเงื่อนไขละ 35 คน ผู้วิจัยให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านบทความที่ใช้ในการเหนี่ยวนำให้เกิดอารมณ์และบทความที่ใช้ในการโน้มน้าวใจ จากนั้นให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินมาตรวัดเจตคติเรื่องการจัดให้มีการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา ผลการวิจัยพบว่า 1. ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องสูง มีคะแนนเจตคติต่อการจัดให้มีการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษาไม่แตกต่างจากผู้ที่มีความเกี่ยวข้องต่ำ 2. ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องสูง ที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดอารมณ์ทางบวกและได้รับข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนัก มีคะแนนเจตคติต่อการจัดให้มีการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษาสูงกว่าผู้ที่มีความเกี่ยวข้องสูง ที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดอารมณ์ทางบวกและได้รับข้อโต้แย้งที่ไม่มีน้ำหนัก 3. ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องต่ำ ที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดอารมณ์ทางบวกและได้รับข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนัก มีคะแนนเจตคติต่อการจัดให้มีการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษาไม่แตกต่างจากผู้ที่มีความเกี่ยวข้องต่ำ ที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดอารมณ์ทางบวกและได้รับข้อโต้แย้งที่ไม่มีน้ำหนัก 4. ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องสูง ที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดอารมณ์ทางลบและได้รับข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนัก มีคะแนนเจตคติต่อการจัดให้มีการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษาไม่แตกต่างจากผู้ที่มีความเกี่ยวข้องสูง ที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดอารมณ์ทางลบและได้รับข้อโต้แย้งที่ไม่มีน้ำหนัก 5. ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องต่ำ ที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดอารมณ์ทางลบและได้รับข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนัก มีคะแนนเจตคติต่อการจัดให้มีการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษาไม่แตกต่างจากผู้ที่มีความเกี่ยวข้องต่ำ ที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดอารมณ์ทางลบและได้รับข้อโต้แย้งที่ไม่มีน้ำหนัก