Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกประชากรกรุงเทพมหานครอายุระหว่าง 18-59 ปี ตามปัจจัยวิถีชีวิตและค่านิยม และศึกษาทัศนคติและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบโควต้าตาม เพศ และกลุ่มอายุ ขนาด 1,020 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่มีคำถามเกี่ยวกับวิถีชีวิต ค่านิยม คุณลักษณะทางประชากรศาสตร์ ทัศนคติต่อผู้สูงอายุ และการมีปฏิสัมพันธ์ การวิเคราะห์องค์ประกอบของปัจจัยด้านวิถีชีวิต ค่านิยม และทัศนคติต่อผู้สูงอายุ ใช้เทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (Principle Component Analysis) สามารถกำหนดโครงสร้างของปัจจัยด้านวิถีชีวิตได้ 7 ปัจจัย ปัจจัยด้านค่านิยมได้ 5 ปัจจัย และปัจจัยด้านทัศนคติต่อผู้สูงอายุได้ 7 ปัจจัย เมื่อนำปัจจัยด้านวิถีชีวิตและค่านิยมรวมกับลักษณะประชากรศาสตร์ในการจำแนกกลุ่มด้วยการวิเคราะห์กลุ่มแบบสองขั้นตอน (Two-step Cluster Analysis) พบว่า จำแนกกลุ่มตัวอย่างออกได้เป็น 7 กลุ่มหลัก และ 16 กลุ่มย่อย การวิเคราะห์ทัศนคติต่อผู้สูงอายุ พบว่า กลุ่มจำแนก 6 กลุ่ม มีทัศนคติบวกต่อผู้สูงอายุ และ 5 กลุ่มจำแนกมีทัศนคติลบ ส่วนการมีปฏิสัมพันธ์ พบว่า 9 กลุ่มจำแนกมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุในระดับสูง นโยบายเพื่อการส่งเสริมทัศนคติและการมีปฏิสัมพันธ์ควรมุ่งเน้นกลุ่มจำแนกที่มีปฏิสัมพันธ์สูงแต่มีทัศนคติลบก่อน รองลงมา เป็นกลุ่มที่มีปฏิสัมพันธ์ต่ำแต่มีทัศนคติบวก และกลุ่มที่มีปฏิสัมพันธ์ต่ำและทัศนคติลบหรือเป็นกลาง ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอการส่งเสริมทัศนคติและกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่มจำแนก