Abstract:
รวบรวมวรรณกรรมพื้นบ้านในชุมชนลาวหลวงพระบางทั้งประเภทมุขปาฐะและลายลักษณ์ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และจำแนกประเภทและวิเคราะห์วรรณกรรมด้านองค์ประกอบของวรรณกรรม รวมทั้งเพื่อศึกษาบทบาทของวรรณกรรมพื้นบ้านดังกล่าว ในการสืบสานและสร้างอัตลักษณ์ของลาวหลวงพระบางซึ่งอพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่วิจัยเป็นเวลากว่า 200 ปี ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ชาวลาวหลวงพระบางในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของตนไว้ ในขณะเดียวกันก็ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง จึงสร้างสรรค์วรรณกรรมมุขปาฐะและลายลักษณ์ขึ้นใหม่เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตน วรรณกรรมไม่เพียงแต่มีบทบาทในฐานะเป็นเครื่องหล่อหลอมโลกทัศน์วิธีคิดและวิถีชีวิต หากยังมีบทบาทในการสร้างอัตลักษณ์ลาวหลวงพระบางในประเทศ อัตลักษณ์ลาวหลวงพระบางในประเทศไทยมีลักษณะพลวัต โดยแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ในช่วงแรกของการตั้งถิ่นฐาน วรรณกรรมมีบทบาทในการสร้างจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ ช่วงที่สอง วรรณกรรมมีบทบาทในการสร้างสำนึกตอบโต้อำนาจรัฐไทย และช่วงที่สาม เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากวาทกรรมสร้างชาติไทย และวาทกรรมการพัฒนาที่ครอบงำอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ชาวลาวหลวงพระบางปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ให้สอดคล้องกับความเป็นไทย เพื่อเลื่อนสถานภาพทางสังคม และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในฐานะพลเมืองไทยโดยการผนวกรวมความเป็นไทยกับความเป็นลาวเข้าด้วยกัน และนิยามตนเองเป็น “ชาวไทยเชื้อสายลาวหลวงพระบาง” อัตลักษณ์ชาวลาวหลวงพระบางในไทยจึงมีความเลื่อนไหล และเลือกแสดงอัตลักษณ์ของตนได้หลากหลายในสังคมไทยขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และผลประโยชน์ของตน